สิงคโปร์ ประเทศที่ไม่มีน้ำมัน แต่ใช้อุตสาหกรรมน้ำมัน พัฒนาประเทศ

สิงคโปร์ ประเทศที่ไม่มีน้ำมัน แต่ใช้อุตสาหกรรมน้ำมัน พัฒนาประเทศ

31 ม.ค. 2025
ประเทศที่มีน้ำมันอันแสนมีค่า ซ่อนอยู่ใต้ผืนพสุธา และมหาสมุทรของตัวเอง แทบทั้งหมดนั้นใช้อุตสาหกรรมน้ำมัน ในการสร้างชาติของตัวเองให้เจริญได้ 
แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศเล็กจิ๋ว ที่มีพื้นที่น้อยกว่ากรุงเทพมหานคร อย่างสิงคโปร์ กลับสามารถสร้างประเทศได้ จากอุตสาหกรรมน้ำมันเช่นเดียวกัน 
แม้จะไม่มีบ่อน้ำมันให้ขุดมากมาย เหมือนอย่างประเทศในตะวันออกกลาง หรือมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย 
โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ด้วยการส่งออกมูลค่ากว่า 1,938,000 ล้านบาทเลยทีเดียว 
แล้วสิงคโปร์ ใช้อุตสาหกรรมน้ำมันพัฒนาประเทศได้อย่างไร แม้ตัวเองจะไม่มีน้ำมัน ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
อุตสาหกรรมน้ำมันของสิงคโปร์นั้น จะประกอบไปด้วย 3 ขาหลัก ๆ ดังนี้ 
1. โรงกลั่นน้ำมัน
อย่างที่เราเห็นแล้วว่าสิงคโปร์นั้น ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป หรือก็คือ น้ำมันที่นำมากลั่นแล้ว จนพร้อมใช้เติมให้ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ มากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก 
โดยสิงคโปร์เริ่มมีโรงกลั่นน้ำมันครั้งแรก ในช่วงศตวรรษที่ 1800 ที่เกาะ Pulau Bukom โดยบริษัท Syme & Company ที่ต่อมาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก Royal Dutch Shell 
ทำให้สิงคโปร์นั้น เป็นแหล่งกลั่นน้ำมันและส่งออกไปขายมาตั้งนานแล้ว 
แต่ถึงอย่างนั้น ภาคโรงกลั่นของสิงคโปร์ ก็ไม่ได้ถูกพัฒนามากไปกว่านั้น เพราะไม่มีบริษัทต่างชาติแห่งไหนเลย ที่อยากจะมาตั้งโรงกลั่นในสิงคโปร์ เพราะทั้งกลัวความไม่สงบ และมองว่าพื้นที่เล็กเกินไป ไม่น่าจะตั้งได้ 
แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ของคุณ Goh Keng Swee รัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ในช่วงปี 1960 ได้ไปเจรจากับบริษัท Maruzen โรงกลั่นน้ำมันยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ให้มาร่วมทุนตั้งโรงกลั่นด้วยกันที่สิงคโปร์ได้สำเร็จ 
หลังจากนั้น โรงกลั่นน้ำมันจากต่างชาติก็ต่อแถวกันเข้ามาตั้งโรงกลั่นที่สิงคโปร์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Shell ในปี 1961, BP ในปี 1962, Mobil ในปี 1966 และ Esso ในปี 1969 
โรงกลั่นเหล่านี้ได้สร้างรายได้กลับคืนให้สิงคโปร์มากมาย เพราะในช่วงนั้น สงครามเวียดนาม และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ได้ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศสิงคโปร์ก็ไม่ได้เพียงแค่พึ่งพาบริษัทน้ำมันต่างชาติเพียงอย่างเดียว 
เพราะในปี 1969 ทางรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ได้ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติอย่าง BP และ Caltex ตั้งบริษัทน้ำมันของตัวเอง อย่าง Singapore Petroleum & Chemical Company หรือ SPCC 
ที่ต่อมาจะกลายเป็น SPC หรือ Singapore Petroleum Company ที่ดำเนินการทั้งสำรวจขุดเจาะน้ำมัน กลั่น และให้บริการสถานีเติมน้ำมัน เหมือนกับ ปตท. ของไทย 
โดยปัจจุบัน สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งประเทศอยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศที่มีประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
และถึงแม้จะมีหลากหลายประเทศที่กลั่นน้ำมันได้มากกว่าสิงคโปร์ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็กลั่นเพื่อใช้สำหรับความต้องการภายในประเทศ ไม่ได้กลั่นเพื่อส่งออกเป็นหลักเหมือนกับสิงคโปร์ 
2. ปิโตรเคมี 
เมื่อมีการกลั่นน้ำมัน ผลผลิตที่ได้นอกจากน้ำมันสำเร็จรูปไว้ใช้งาน ก็คือเหล่าปิโตรเคมีต่าง ๆ ที่สามารถนำไปทำเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมี รวมถึงพลาสติกต่าง ๆ 
โดยรัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้จับมือกับบริษัท Sumitomo Chemical จากญี่ปุ่น เพื่อเจรจาขอเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น มาก่อตั้งบริษัทปิโตรเคมีของตัวเองอย่าง Petrochemical Corporation of Singapore ในปี 1976 
แต่หลังจากนั้น เมื่อเจอกับความผันผวนของราคาปิโตรเคมี และการแข่งขันอย่างดุเดือดจากหลายประเทศ จนตลาดปิโตรเคมีซบเซา 
รัฐบาลสิงคโปร์ก็ทยอยขายหุ้นในบริษัททิ้งเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1988 จนหมดในปี 1997 
แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของสิงคโปร์ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ว่ารัฐบาลผันตัวไปเป็นผู้สนับสนุน ไม่ได้ทำบริษัทปิโตรเคมีเองอีกต่อไป 
ด้วยการสร้างเกาะจูรง ซึ่งเกิดจากการถมทะเล เพื่อเป็นศูนย์กลางการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของประเทศ 
เพราะเมื่อโรงกลั่นน้ำมัน ทำการกลั่นน้ำมันเสร็จ ก็สามารถส่งต่อเหล่าวัตถุดิบตั้งต้น ในการทำปิโตรเคมี ให้กับโรงงานปิโตรเคมีใกล้ ๆ ได้เลย 
ซึ่งปัจจุบัน หลายบริษัทด้านพลังงานและปิโตรเคมี ระดับโลกหลายแห่งมีฐานการผลิตที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น ExxonMobil, Shell และ Chevron เป็นต้น
3. การค้าขายน้ำมัน 
การที่สิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายหลักของโลก ประกอบด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย 
สิงคโปร์จึงเหมาะกับตำแหน่งศูนย์กลางการค้าน้ำมันในภูมิภาคนี้ ด้วยการเป็นจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่น และกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียได้โดยสะดวก 
และเมื่อผสานเข้ากับความก้าวหน้าในเรื่องตลาดการเงิน สิงคโปร์จึงกลายเป็น 1 ใน 3 ที่ตั้งของตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ ขนาดใหญ่ของโลก คือ ตลาด SIMEX หรือ Singapore Monetary Exchange
ขณะที่อีก 2 ที่คือ ตลาด NYMEX หรือ New York Mercantile Exchange ที่นิวยอร์ก และ ตลาด IPE หรือ International Petroleum Exchange ที่กรุงลอนดอน
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ผ่านมาของสิงคโปร์ ที่มองเห็นโอกาสในข้อจำกัดที่ว่า แม้ประเทศจะไม่มีน้ำมันเลยก็ตาม 
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สิงคโปร์จะเอาน้ำมันดิบจากประเทศอื่น มากลั่นเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองไม่ได้ 
และเมื่อผนวกเข้ากับจุดแข็งของตัวเอง อย่างเช่น ตลาดการเงินที่พัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค 
ก็ทำให้สิงคโปร์มีที่ยืนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งที่ในโลกของอุตสาหกรรมน้ำมัน ด้วยการเป็นตลาดซื้อขายน้ำมัน อันเป็นที่ยอมรับของโลกด้วย 
จนทำให้วันนี้ สิงคโปร์คือศูนย์กลางการค้าขายน้ำมันของเอเชีย รวมถึงผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ของโลกได้ พร้อมทั้งกลายเป็นประเทศรายได้สูงอย่างรวดเร็ว 
แม้ในมหาสมุทร และพื้นแผ่นดิน ของเกาะเล็ก ๆ แห่งนั้น จะแทบไม่มีน้ำมันสักหยดเลยก็ตาม..
#เศรษฐกิจ
#สิงคโปร์
#น้ำมัน
References
-Srijit Ghosh and Melissa Au. (2018). CCSI Downstream Beneficiation, Refined Petroleum Case Study: Singapore
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.