สรุปวิธีวางแผนภาษี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เข้าใจง่าย ในโพสต์เดียว

สรุปวิธีวางแผนภาษี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เข้าใจง่าย ในโพสต์เดียว

18 พ.ย. 2024
การโดนเก็บภาษีย้อนหลัง คือฝันร้ายของคนค้าขายออนไลน์อย่างแท้จริง 
เพราะเราไม่เพียงต้องจ่ายเงินภาษีเท่านั้น แต่ยังมีทั้งเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยที่คิดเพิ่ม จนทำให้จ่ายภาษีย้อนหลังเป็นเงินมหาศาล 
เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจเรื่องภาษี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่แพ้ความรู้เรื่องการค้าขายที่จะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตเลย
แล้วพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้เรื่องภาษีที่จำเป็นอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ถ้าเราขายของออนไลน์ ภาษีที่เราต้องจ่ายหลัก ๆ มี 2 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งไม่ว่าเราจะขายของออนไลน์ในฐานะบุคคลธรรมดา หรือเป็นบริษัทก็ตาม จะต้องเสียภาษีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างแน่นอน
เริ่มกันที่ “ภาษีเงินได้”
ถ้าเราเป็นบุคคลธรรมดา หรือก็คือคนทั่วไป ที่ไม่ได้จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทหรือห้างร้าน การคิดภาษีเงินได้ จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มมีรายได้จากการขายของออนไลน์
โดยภาษีเงินได้ที่เราต้องจ่าย คิดเป็นสูตรง่าย ๆ คือ
ภาษีเงินได้ = อัตราภาษี x เงินได้สุทธิ 
โดยเงินได้สุทธิสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นั้น จะคำนวณได้จาก 
เงินได้สุทธิ = รายได้รวม - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
รายได้รวม แปลว่า เรามีรายได้จากการขายของออนไลน์ทั้งปีเท่าไร ตรงนี้จะถูกนับว่าเป็นรายได้ประเภท 40(8) ตามกฎหมาย
ต่อมาคือค่าใช้จ่าย ซึ่งในที่นี้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก็คือต้นทุนสินค้านั่นเอง โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะหักเหมาต้นทุนขายสินค้า 60% จากรายได้รวมทั้งปี 
หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ที่ต้องมีการบันทึกรายจ่ายและสต๊อกสินค้าไว้
จากนั้นก็ค่อยไปหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ เหลือเท่าไรก็ค่อยไปดูเกณฑ์ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เราก็จะรู้ว่า ต้องเสียภาษีเงินได้มากแค่ไหน
เล่ามาแบบนี้ หลายคนคงยังไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไร เราลองมายกตัวอย่างเล่น ๆ กัน
นายเอก มีรายได้จากการขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์อย่างเดียว ไม่มีลูก ไม่มีภรรยา 
โดยมีรายได้ขายของออนไลน์ทั้งปี 1,000,000 บาท และต้นทุนค่าสินค้า 700,000 บาท 
โดยนายเอกนั้น แม้ไม่ได้ซื้อประกัน หรือกองทุนลดหย่อนภาษีอะไรไว้ในปีนี้ แต่นายเอกก็จะมีค่าลดหย่อนส่วนตัว ที่ผู้เสียภาษีเงินได้ สามารถนำไปลดหย่อนได้เลย โดยไม่ต้องยื่นอะไร จำนวน 60,000 บาท
ทีนี้นายเอกก็ต้องเลือกว่า ตัวเองจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือแบบตามจริงดี 
- กรณีหักค่าใช้จ่ายตามจริง 
เงินได้สุทธิ = 1,000,000 - 700,000 - 60,000 = 240,000 บาท
ซึ่งเงินได้สุทธิเท่านี้ ทำให้นายเอกอยู่ในช่วงอัตราภาษี 5% ทำให้ต้องเสียภาษีทั้งหมดเท่ากับ 
ภาษีที่ต้องจ่าย = (240,000 - 150,000) x 5% = 4,500 บาท    
- กรณีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% 
เงินได้สุทธิ = 1,000,000 - 600,000 - 60,000 = 340,000 บาท 
ซึ่งเงินได้สุทธิเท่านี้ ทำให้นายเอกอยู่ในช่วงอัตราภาษี 10% ทำให้ต้องเสียภาษีทั้งหมดเท่ากับ 
ภาษีที่ต้องจ่าย = [(340,000 - 300,000) x 10%] + 7,500 = 11,500 บาท    
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีรายได้เท่ากัน แต่เมื่อเลือกการหักค่าใช้จ่ายต่างวิธีกัน ภาษีที่นายเอกต้องจ่าย ก็แตกต่างกันได้หลายพันบาทเลย 
ซึ่งถ้าหากนายเอกอยากเสียภาษีน้อยลงแบบถูกกฎหมาย ก็ต้องมีค่าลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม หรือตัดสินใจว่า หักต้นทุนค่าใช้จ่ายสินค้าแบบไหนถึงจะดีกว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรรู้ไว้ก็คือ กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ทุกกิจการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ ซึ่งตรงนี้เราต้องไปเช็กเพิ่มเติมอีกครั้งกับเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ในขณะที่ถ้าเราเป็นนิติบุคคลหรือบริษัท ตรงนี้อาจจะไม่ซับซ้อนอะไร เพราะเราก็บันทึกต้นทุนต่าง ๆ ในทางบัญชีตามกฎหมายบอกไว้ ซึ่งถ้ากำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล
แต่ถ้ามีกำไรสุทธิในปีนั้น ตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป ก็ต้องเสียภาษีตั้งแต่ร้อยละ 15 ไปจนถึงสูงสุดร้อยละ 20 
ซึ่งถ้าเรามีรายได้รวมจากการขายของออนไลน์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลหรือบริษัท ก็อาจช่วยให้เราจัดการและประหยัดภาษีได้มากกว่าการเป็นบุคคลธรรมดาเช่นกัน
โดยจากตัวอย่างเดิม ที่นายเอกต้องเสียภาษี 4,500 บาท หากใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของตัวเอง
ถ้านายเอกเลือกจดทะเบียนเป็นบริษัท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะกำไรสุทธิจากการทำธุรกิจเพียง 300,000 บาท ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
มาถึงภาษีอีกตัวที่คนค้าขายออนไลน์ต้องรู้ นั่นก็คือ
“ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
เราจำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ก็ต่อเมื่อเรามีรายได้รวมจากการขายของออนไลน์ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งภาษีตรงนี้จะถูกเรียกอีกอย่างว่า ภาษีขาย ที่แปลว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราบวกเข้าไป เวลาเราขายสินค้านั้น ๆ ให้กับลูกค้า
และเรามีหน้าที่ต้องบันทึกภาษีขายตรงนี้เอาไว้ เพื่อใช้หักลบกับภาษีซื้อ เมื่อเวลาเราไปซื้อของจากธุรกิจอื่น ที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน 
เพราะถ้าเราไม่มีข้อมูลตรงนี้ ทำให้เราแบกต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาเพิ่มขึ้น ทั้งที่ต้นทุนตรงนั้นเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายเลยอนุญาตให้เราหักลบส่วนต่างภาษีซื้อและขาย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการทำธุรกิจ 
แต่ก็ต้องบอกว่า บางธุรกิจก็ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น หนังสือ เกษตรกรรม ซึ่งเราสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง
แล้วเราต้องเสียภาษีขายของออนไลน์ ตอนไหนบ้าง ?
ปกติแล้ว ถ้าเราขายของออนไลน์ ต้องยื่นภาษีทั้งกลางปีและเต็มปี โดยต้องยื่นภาษีครึ่งปีภายในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี
ส่วนภาษีเต็มปี ก็ยื่นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป เหมือนกับมนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้ประจำทั่วไป
โดยถ้าเราลืมยื่นภาษีกลางปี จะต้องเสียค่าปรับในการยื่นล่าช้าเพิ่มเติม รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายคืนแบบคิดดอกเบี้ยด้วย
ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมีข้อสงสัยต่อว่า ถ้าเราไม่ได้ขายของออนไลน์โดยตรง แต่มีรายได้จากการเป็นนายหน้าขายของออนไลน์ ด้วยการแปะลิงก์ในโพสต์ หรือที่เราเรียกกันว่า Affiliate จะต้องยื่นภาษีอย่างไร
ก็ตอบได้ว่า รายได้จาก Affiliate นั้น ถือเป็นรายได้ประเภท 40(2) ที่ต้องนำไปรวมกับรายได้รวมจากช่องทางอื่น ๆ แล้วหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก่อนคิดภาษีเงินได้ตามปกติ 
ถึงตรงนี้ก็คงพอเข้าใจกันแล้วว่า ถ้าเราขายของออนไลน์แล้ว ต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง และไม่ให้เกิดปัญหาเก็บภาษีย้อนหลังตามมา
และสามารถช่วยให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เริ่มต้นวางแผนภาษีได้เป็นระบบมากขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ 
และทำให้ภาษีจากการขายของออนไลน์ ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องง่าย ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ไปตลอดชีวิต..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.