สรุปวิธี ใช้ประกันชีวิต จัดการภาษีมรดก แบบคนรวย ในโพสต์เดียว

สรุปวิธี ใช้ประกันชีวิต จัดการภาษีมรดก แบบคนรวย ในโพสต์เดียว

16 ต.ค. 2024
รู้ไหมว่า ถ้าใครก็ตาม อยากจะส่งต่อทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท แล้วทรัพย์สินนั้นอยู่ในประเทศไทย เป็นมรดกให้ทายาท หรือพ่อแม่ 
คนคนนั้นต้องเสียภาษีมรดกในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นมรดก ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท
หรือซ้ำร้ายอาจจะต้องเสียในอัตรา 10% ถ้าคนรับมรดก เป็นเพียงญาติที่มีความสัมพันธ์ห่างกัน เช่น พี่น้อง
ฟังดูแล้ว กฎหมายแบบนี้ ก็น่าจะไม่มีปัญหาสำหรับคนโดนเรียกเก็บ เพราะเป็นภาษีที่เก็บเฉพาะคนรวย
แต่กฎหมายแบบนี้ น่าจะเป็นฝันร้ายของคนที่รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินที่แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ยาก เช่น ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 
เพราะถ้าหากคนรับมรดกไม่มีเงินสดก้อนใหญ่เตรียมไว้จ่ายภาษี ก็คงต้องวิ่งหาเงินจำนวนมากมาจ่ายภาษี 
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาแบบนี้ ก็ยังพอมีทางแก้ไขอยู่บ้าง 
และถ้าหากคุณสงสัยว่า ทางแก้ปัญหาของเรื่องนี้ คืออะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เพื่อให้เข้าใจประเด็นปัญหา และทางแก้ไขง่าย ๆ ขอยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์สมมติแบบนี้
คุณก้อง เกิดมาในตระกูลผู้ดีเก่าแก่ของไทย ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นเจ้าของที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ
ปัจจุบันคุณก้อง อายุ 40 ปี ทำงานเป็นผู้บริหารระดับกลางในบริษัทแห่งหนึ่ง
แล้วต้องการวางแผนส่งต่อมรดก คือ ที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ ที่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท
แต่กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า ถ้าจะส่งต่อมรดกที่มีมูลค่าสูงเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีที่ส่งต่อให้ทายาท หรือพ่อแม่
หรืออาจต้องเสียถึง 10% ของมูลค่ามรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ถ้าส่งต่อมรดกให้ญาติที่มีความสัมพันธ์ห่างกัน เช่น พี่น้อง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติ
ดังนั้นมูลค่าของมรดกที่จะถูกคิดภาษี 5% ของคุณก้อง ก็จะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ทำให้ถ้าคุณก้องต้องการส่งต่อมรดกให้ลูกของเขา จะต้องเสียภาษีมากถึง 10 ล้านบาท
แต่กระนั้น คุณก้องก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงเวลาส่งต่อมรดก ลูกของเขาจะมีเงินสดมากพอไว้สำหรับจ่ายภาษีมรดกหรือไม่
นอกจากนี้ คุณก้องก็ไม่อยากให้ลูกของเขา ขายที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกที่ส่งต่อกันมาหลายรุ่นให้คนอื่นไป เพียงเพื่อจะได้เงินสดมาจ่ายภาษี
โชคดีที่คุณก้องมีเพื่อนเป็นพนักงานขายประกัน ที่แนะนำให้คุณก้องทำประกันชีวิต
โดยวางแผนไว้ว่า เมื่อคุณก้องเสียชีวิต แล้วมีการส่งต่อมรดก ลูกของคุณก้อง จะต้องได้รับทุนประกันชีวิตอย่างน้อย 10 ล้านบาท
เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอสำหรับการจ่ายภาษีมรดก ที่เราคำนวณกันไว้ก่อนหน้านี้
คำนวณจากอายุการทำงานที่เหลืออยู่ คุณก้องจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตปีละ 250,000 บาท ตลอด 20 ปีข้างหน้า จนกว่าคุณก้องจะอายุ 60 ปี และเลิกทำงานในที่สุด
นอกจากนี้เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายปีละ 250,000 บาท คุณก้องสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทต่อปีอีกด้วย
สรุปแล้ว วิธีการแก้ไข ไม่ให้ลูก ๆ ของคุณก้องต้องได้ “ทุกขลาภ” เพราะไม่มีเงินสดพอจะจ่ายภาษี 
ก็คือการที่คุณก้อง ใช้วิธีจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 250,000 บาทต่อปี ไป 20 ปี จะได้รับวงเงินคุ้มครอง 10 ล้านบาท พอดี
เพราะเมื่อถึงเวลาที่คุณก้องจากไป ลูกของคุณก้องก็จะได้รับเงินก้อนจากประกันชีวิตมา และนำไปจ่ายภาษีมรดกได้ โดยไม่ต้องกังวล..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.