ฮ่องกง ทำอย่างไร ถึงเก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าต่ำ ๆ แต่ทำ อัตรากำไร สูงถึง 20%

ฮ่องกง ทำอย่างไร ถึงเก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าต่ำ ๆ แต่ทำ อัตรากำไร สูงถึง 20%

11 ต.ค. 2024
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในไทย สำหรับนั่งไป-กลับ โดยเฉลี่ยแล้ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 27% ของค่าแรงขั้นต่ำ
แต่รู้ไหมว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในฮ่องกง สำหรับนั่งไป-กลับ โดยเฉลี่ยแล้ว คิดเป็นเพียง 9% ของค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้ว่าบริษัทผู้ดูแลธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกงจะเก็บค่าโดยสารในราคาถูก แต่บริษัทแห่งนี้กลับสร้างอัตรากำไรสุทธิได้มากกว่า 20% ต่อเนื่องหลายปี
โดยบริษัทผู้ดูแลการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกง ก็คือรัฐวิสาหกิจ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ชื่อว่า MTR Corporation ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงถือหุ้นมากกว่า 70%
แล้ว MTR Corporation มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร ถึงเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำ ๆ แต่ทำกำไรได้สูงแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
MTR Corporation ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1975 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลอังกฤษ เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกของฮ่องกง
ปัจจุบันฮ่องกงมีเส้นทางรถไฟฟ้า 12 สาย รวม 99 สถานี ความยาว 271 กิโลเมตร และทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ MTR 
นอกจากเป็นเจ้าของระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่เดินทางได้ทั่วฮ่องกงแล้ว บริษัทแห่งนี้ยังเป็นเจ้าของสัมปทานเดินรถโดยสารประจำทางอีกด้วย
MTR จึงกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดขนส่งมวลชนของฮ่องกง ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 50% ของการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในฮ่องกง
เรียกได้ว่า ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกงแล้ว ก็คงเลี่ยงที่จะเป็นลูกค้าของ MTR ได้ยากมาก
ทีนี้เราลองมาดูโครงสร้างรายได้ และผลกำไรในแต่ละหน่วยธุรกิจของบริษัทแห่งนี้กัน
ในปี 2023 MTR มีรายได้รวม 243,463 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจในฮ่องกง มีมูลค่ารวม 129,576 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.2% ของรายได้รวม มาจาก..
- รายได้จากธุรกิจขนส่งสาธารณะ 86,013 ล้านบาท
- รายได้จากการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า 21,863 ล้านบาท
- ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้า 21,700 ล้านบาท
แต่นอกจากธุรกิจในฮ่องกงแล้ว MTR ยังมีรายได้จากต่างประเทศ ด้วยการได้สัมปทานรับบริหารรถไฟฟ้าอีกหลายสายในต่างประเทศ เช่น..
- ลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ 
- ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
- เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
- สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน
- ในเมืองอื่น ๆ ของจีน ก็เช่น มาเก๊า หางโจว เซินเจิ้น เฉิงตู ปักกิ่ง และเทียนจิน
ส่วนรายได้จากธุรกิจนอกฮ่องกง นอกจากการรับบริหารเส้นทางรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 
โดย MTR มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 110,897 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45.5% ของรายได้รวม
ส่วนรายได้อื่น ๆ อยู่ที่ 2,990 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจขนส่งสาธารณะในฮ่องกง เป็นธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไร โดยมีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี อยู่ที่ 4,747 ล้านบาท
ในขณะที่ ธุรกิจบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี ประมาณ 33,288 ล้านบาท
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่ารัฐบาลฮ่องกงตั้งใจเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินให้ต่ำ เพื่อให้ประชากรทุกกลุ่ม สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้
แล้วไปหากำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน เพื่อมาชดเชยการขาดทุน จากการตั้งราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำ ๆ
เบื้องหลังของการสร้างกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้มากแบบนี้ เริ่มตั้งแต่ตอนที่รัฐบาลฮ่องกงเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว
โดยตอนนั้นรัฐบาลฮ่องกง ได้เริ่มเวนคืนที่ดินบริเวณรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่กำลังก่อสร้าง พร้อมกับยกที่ดินเหล่านั้นให้ MTR แบบฟรี ๆ เพื่อให้ MTR มีที่ดินในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
โมเดลธุรกิจแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เสียจนทำให้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา MTR Corporation สามารถสร้างอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 22% แม้จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่แพง  
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ 
รัฐบาลฮ่องกงมีหุ้นอยู่ในบริษัท MTR Corporation จำนวน 4,634 ล้านหุ้น
ปีที่แล้วบริษัทแห่งนี้จ่ายปันผลออกมา 1.31 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น
แปลว่าปีที่แล้ว รัฐบาลฮ่องกงได้รับเงินปันผลจากบริษัทนี้ถึง 25,800 ล้านบาท เลยทีเดียว..
#ธุรกิจ
#หุ้นนอก
#ฮ่องกง
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.