สรุปมหากาพย์ 5,300 ปี เศรษฐกิจอินเดีย จากเงินตราและผ้าไหม สู่ยักษ์ใหญ่ ด้านเทคโนโลยี

สรุปมหากาพย์ 5,300 ปี เศรษฐกิจอินเดีย จากเงินตราและผ้าไหม สู่ยักษ์ใหญ่ ด้านเทคโนโลยี

30 ส.ค. 2024
โลกการลงทุนวันนี้ไม่มีใครไม่พูดถึงอินเดีย ด้วยทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่เติบโตอย่างร้อนแรง จึงทำให้อินเดีย กลายเป็นดาวเด่นที่ใคร ๆ ก็จับตามอง 
ซึ่งนักลงทุนอย่างเรา ก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย ผ่านตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน ด้วยเครื่องมืออย่าง DR ชื่อว่า “INDIAESG19” 
แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง อินเดีย เคยก้าวหน้าถึงขนาดเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกใบนี้ 
แล้วเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย ที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,300 ปี มีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ชาวอินเดียอยู่คู่กับการสร้างเทคโนโลยีมาตั้งแต่บรรพกาล เพราะในตอนที่อินเดีย เริ่มก่อร่างสร้างอารยธรรม แถบลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อ 5,300 ปีก่อน 
ก็ใช้เวลาไม่นานในการเรียนรู้ที่จะต่อเรือ และสร้างเกวียน จนสามารถสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการเปิดเส้นทางการค้า ทั้งทางบกและทางทะเล 
ดินแดนส่วนใหญ่ของอินเดีย ถูกรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นโดยราชวงศ์เมารยะ เมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน ตามด้วยราชวงศ์คุปตะ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6
ตอนนี้เองที่ศาสตร์ต่าง ๆ ของอินเดียเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู เพราะไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ ก็ได้ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง
จากการที่ผู้คนไม่ได้อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่อยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ที่มีกฎระเบียบ และไม่ค่อยได้รบพุ่งกันเองมากนัก 
นอกจากศาสตร์ต่าง ๆ แล้ว การค้าก็เฟื่องฟูไม่แพ้กัน เพราะมีการสร้างถนนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้คนในอาณาจักรไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น 
และสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ นวัตกรรมทางการเงินต่าง ๆ ที่ชาวอินเดีย ณ ขณะนั้น คิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขาย เช่น
- ตั๋วแลกเงิน ที่ทำให้พ่อค้าต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องพกเงินจำนวนมากเวลาเดินทางไปค้าขาย ให้เสี่ยงโดนโจรปล้น เพราะเพียงแค่เอาตั๋วแลกเงินไปขึ้นเงินกับผู้ที่รับแลก ก็สามารถนำเงินออกมาใช้ได้เลย 
- ระบบธนาคาร ที่ดำเนินการโดยเหล่าเศรษฐี รวมไปถึงวัดวาอาราม ซึ่งทำหน้าที่ทั้งรับฝากถอนเงิน และปล่อยกู้ รวมไปถึงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไม่ต่างจากธนาคารในปัจจุบัน 
รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนอย่าง “ฮาวาลา (Hawala)” ซึ่งเกิดขึ้นมาตามหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือประมาณ 400 ปีก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง 
โดย ฮาวาลา นั้นจะคล้ายกันกับสัญญาฟอร์เวิร์ด และฟิวเจอร์สในปัจจุบัน ที่มีการตกลงซื้อขายกันล่วงหน้าก่อน แล้วค่อยส่งเงินจริง ๆ ตามไปทีหลัง 
เรียกได้ว่า ในขณะที่คนไทยสมัยนั้น ยังไม่มีแม้แต่ตัวหนังสือให้ใช้สักตัว 
แต่ชาวอินเดีย กลับมีทั้งธนาคารที่รับฝากถอนเงิน และให้สินเชื่อ รวมถึงมีสัญญาฟิวเจอร์สให้ใช้ ไม่ต่างกับคนในปัจจุบันกันแล้ว..
อย่างไรก็ตาม อินเดียขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกได้ ก็ในสมัยของจักรวรรดิโมกุล ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งปกครองอินเดียนานกว่า 300 ปี 
โดยได้มีการประมาณการไว้ว่า ในช่วง ค.ศ. 1700 ซึ่งตรงกับสมัยที่ประเทศไทย ยังอยู่ในสมัยอยุธยา
อินเดียนั้น มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า GDP กว่า 7.4 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 24% ของ GDP โลก ณ ตอนนั้น 
เพราะว่า อินเดีย เริ่มผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปค้าขาย มากกว่าจะผลิตไว้ใช้เอง โดยมีอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกของอินเดียก็คือ ผ้าไหม 
รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องเทศ, เหล็ก และการต่อเรือด้วย
โดยในปี ค.ศ. 1750 มีการประมาณการไว้ว่า มูลค่าของสินค้าที่ผลิตในอินเดียนั้น คิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าสินค้าที่ผลิตขึ้นทั้งโลก
ทำให้ในตอนนั้น นอกจากจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 แล้ว อินเดียยังถือได้ว่าเป็น “โรงงานของโลก” อีกด้วย 
ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของอินเดียก็คือ เหล่าประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ และดัตช์ ที่นำเข้าผ้าไหมและสินค้าต่าง ๆ จากอินเดียเป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อมีความเจริญ ก็ย่อมต้องมีความเสื่อมถอย เป็นเรื่องธรรมดา..   
เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ท้ายที่สุดอินเดียที่อ่อนแอลง ก็ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งทรัพยากรและความมั่งคั่งต่าง ๆ ที่อังกฤษได้ไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อังกฤษ สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สำเร็จ 
และการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เอง ก็กลายเป็นดาบที่หันกลับมาทำร้าย ภาคการผลิตที่เคยยิ่งใหญ่ของอินเดีย 
จากการที่ผู้ผลิตผ้าไหมในอินเดีย ไม่สามารถสู้การทุ่มตลาด โดยสิ่งทอราคาถูกจำนวนมหาศาล ที่ผลิตจากเครื่องจักรล้ำสมัยในอังกฤษได้
ภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย จึงถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี และส่งผลให้อินเดีย เสียตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกไปในที่สุด 
อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ นานถึง 89 ปี จนได้เอกราชในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งหลังจากหานโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมอยู่นาน 
ในที่สุดอินเดียก็ได้นโยบายที่ถูกทาง ด้วยการหันมาพัฒนาเรื่องซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 รวมไปถึงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในทศวรรษ 1990 
ทำให้นอกจากอินเดียจะกลับมาเป็นฐานการผลิตสินค้าของโลกได้อีกครั้งแล้ว ยังสามารถกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีได้อีกด้วย 
โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียนั้น ถือว่าใหญ่มาก ๆ เพราะคิดเป็นสัดส่วนถึง 8% ของ GDP อินเดียทั้งหมดเลยทีเดียว 
ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ เศรษฐกิจประเทศอินเดีย เติบโตได้มากถึงปีละ 7% และขยับตำแหน่งจากประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 10 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ได้
S&P Global ก็ได้คาดการณ์ว่า ในเวลาอีกแค่ 6 ปีเท่านั้น ประเทศอินเดีย จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังสหรัฐอเมริกา และจีน 
ทุกวันนี้บริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหุ้นของอินเดียนั้น ก็มีทั้งธุรกิจที่ชาวอินเดียมีมาตั้งแต่โบราณกาล อย่างเช่น ธนาคาร ICICI Bank, HDFC Bank และ Axis Bank 
การอุตสาหกรรมอย่าง Reliance Industries อาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ Mahindra & Mahindra ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่
รวมไปถึงธุรกิจใหม่ ๆ อย่างเช่น Infosys ที่ตอนนี้กำลังพัฒนาเรื่องของระบบ Cloud และ AI อยู่
จากทั้งหมดนี้เองก็จะเห็นได้ว่า อันที่จริงแล้วอินเดียมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอยู่แล้ว จากการเป็นบ่อเกิดอารยธรรม และความรู้ที่สั่งสมมาหลายพันปี 
แต่แน่นอนว่าเส้นทางในการกลับไปเป็นมหาอำนาจโลกอีกครั้งของอินเดีย ก็คงจะไม่ง่ายอย่างในอดีต แต่ถ้าหากอินเดียยังคงเติบโตได้อย่างรวดเร็วต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ 
ก็ไม่แน่ว่าในช่วงชีวิตของเรา อาจจะได้เห็นอินเดีย กลายเป็นหนึ่งในประเทศรายได้สูง แบบเหล่าประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็เป็นได้..

#สรุปDRวันละตัว 
#DR
#ลงทุน

References 
-https://companiesmarketcap.com/india/largest-companies-in-india-by-market-cap/
-Clingingsmith, D. & Williamson, Jeffrey G. (2005). India’s Deindustrialization in the 18th and 19th Centuries.
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.