รู้จัก 3 แหล่งรายได้ จากสวัสดิการ หลังเกษียณ

รู้จัก 3 แหล่งรายได้ จากสวัสดิการ หลังเกษียณ

3 มิ.ย. 2024
ณ ตอนนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ได้คิดจริงจังกับแผนเกษียณมากนัก เพราะในทุกวันนี้ เราก็ยังมีเงินเดือน หรือเงินที่ได้จากการทำงาน เข้าบัญชีอยู่เรื่อย ๆ  
แต่คนเราก็ไม่สามารถทำงานไปได้ตลอด เพราะถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเกษียณอายุ  
แต่รู้หรือไม่ว่า หลังจากที่เราเกษียณแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่มีเงินใช้สักบาทเลยเสียทีเดียว แต่ยังมีแหล่งรายได้ ที่จะช่วยดูแลเราหลังเกษียณอยู่
แล้วถ้าหากคุณสงสัย ว่าหลังเกษียณแล้ว เราจะมีรายได้อะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แหล่งรายได้หลังเกษียณ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่เราควรจะได้นั้น หลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 3 ทาง ได้แก่
1. เงินชดเชยการเลิกจ้าง
การเกษียณอายุ ก็นับเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่ง ดังนั้น ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อลูกจ้างทำงานจนเกษียณอายุ
บางบริษัทอาจกำหนดอายุเกษียณก่อนครบ 60 ปี หรือครบ 60 ปี แล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัท โดยเมื่อเกษียณอายุแล้ว ค่าชดเชยที่ลูกจ้างจะได้รับ ก็ขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน ดังนี้
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินชดเชย 30 วัน หรือได้เงินเดือน 1 เดือน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 90 วัน หรือได้เงินเดือน 3 เดือน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินชดเชย 180 วัน หรือได้เงินเดือน 6 เดือน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน หรือได้เงินเดือน 8 เดือน
- ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือได้เงินเดือน 10 เดือน
- ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน หรือได้เงินเดือน 13.33 เดือน
ถ้ายังไม่เห็นภาพ ก็สมมติว่า คุณลุง A ทำงานกับบริษัท MONEY LAB เป็นเวลานานกว่า 20 ปี โดยปีสุดท้ายคุณลุงมีเงินเดือน 120,000 บาท 
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันที่คุณลุง A เกษียณ เขาจะได้เงินมากถึง 1,599,600 บาท 
2. เงินบำนาญประกันสังคม
สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น ทุกเดือนที่เงินเดือนออก จะมีเงินส่วนหนึ่งที่ถูกหักเพื่อนำส่งประกันสังคม โดยนำส่ง 5% ของฐานค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน
ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับจากเงินประกันสังคมประกอบไปด้วย เบิกกรณีว่างงาน ค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ รวมไปถึงเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ขึ้นอยู่กับว่า เราส่งประกันสังคมมานานหรือไม่
สมมติว่า เราทำงานจนเกษียณ และส่งเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 180 เดือนพอดี เมื่อครบอายุ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมใน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 
เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายของนาย B คือ 15,000 บาท ดังนั้น เงินบำนาญประกันสังคม = 15,000 x 20% = 3,000 บาท กรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 3,000 บาท ไปจนตลอดชีวิต
ซึ่งฐานเงินเดือนสูงสุดที่จะนำมาคำนวณคือ 15,000 บาท ดังนั้น ต่อให้ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายของนาย B จะเป็น 50,000 บาท ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 3,000 บาท ไปตลอด
แต่ถ้านำเงินส่งประกันสังคมมากกว่า 180 เดือน หรือมากกว่า 15 ปี จะได้อัตราเงินบำนาญปรับเพิ่มปีละ 1.5% 
เช่น นาย C ส่งประกันสังคมมาครบ 20 ปี อัตราเงินบำนาญจะปรับจาก 20% เป็น 27.5% ทำให้เงินบำนาญรายเดือน = 27.5% x 15,000 บาท = 4,125 บาทต่อเดือน จนตลอดชีวิต
แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน หรือไม่เกิน 15 ปี จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จที่เป็นเงินก้อนแทน ไม่ใช่เงินบำนาญ
3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางภาครัฐจัดสรรให้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบัน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
โดยผู้มีสิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุนั้น จะได้รับเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด 
รวมทั้งไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน 
เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้ที่ได้รับเงินเดือน, ค่าตอบแทน, รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า ถ้าเราทำงานจนเกษียณ เราจะมีสิทธิพื้นฐานด้านการเงินอะไรบ้าง 
ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่า รายได้เหล่านี้ จะมากเพียงแค่ทำให้เราอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ไม่พอที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงใช้จ่ายในยามเจ็บป่วย 
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรที่จะหวังพึ่งรายได้เหล่านี้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเงินเก็บสำหรับยามเกษียณของเราเองด้วย 
เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ อย่างสะดวกสบายหายห่วง ตามที่เราต้องการ ให้สมกับที่ตรากตรำทำงานอย่างหนัก มาเกือบครึ่งชีวิต..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.