ประกันสะสมทรัพย์ ต่างกับ บัญชีเงินฝากอย่างไร ทำไมยังมีคนซื้อ
16 พ.ค. 2024
การเก็บออมอีกหนทางหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยม นอกเหนือจากการออมในบัญชีเงินฝาก ก็คือ “ประกันสะสมทรัพย์”
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนก็คงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ในขณะที่เราเอง ก็มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ซึ่งมีความมั่นคงดีอยู่แล้ว
แต่ทำไมถึงยังมีคนที่นำเงินไปฝากไว้กับบริษัทประกัน ด้วยการซื้อประกันสะสมทรัพย์อีก
แล้วประกันสะสมทรัพย์นั้น มีข้อดีอะไร ที่ทำให้ผู้คนยังคงซื้อประกันอยู่เรื่อย ๆ แบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ข้อดีของประกันสะสมทรัพย์ที่บัญชีเงินฝากให้ไม่ได้ หลัก ๆ แล้วจะประกอบไปด้วย 4 ข้อ
1. ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
ถ้าหากไม่นับอัตราดอกเบี้ยโปรโมชันต่าง ๆ ที่มีตั้งแต่ 3% ถึง 5% ต่อปี ปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารใหญ่ ๆ ในไทย เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 0.3% ต่อปี
หรือแม้แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารใหญ่ ๆ ในไทย เฉลี่ยแล้วก็จะอยู่ที่ประมาณ 1.7% ต่อปีเท่านั้น
นั่นจึงทำให้ ประกันสะสมทรัพย์ดูน่าดึงดูดใจกว่าบัญชีเงินฝาก เพราะว่าบริษัทประกันจะนำเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้ รวมไปถึงตราสารทุนต่าง ๆ
เราจึงสามารถซื้อประกันสะสมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนต่อปี หรือ IRR ประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งมีผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่มีความแน่นอนสูงเหมือนกันได้ นั่นเอง
2. มีความคุ้มครองชีวิตเพิ่ม
แม้จะชื่อว่าประกันสะสมทรัพย์ แต่อันที่จริงแล้ว ประกันชนิดนี้ ก็เป็นประกันชีวิตอีกประเภทหนึ่ง นั่นจึงทำให้ผู้ที่มีประกันสะสมทรัพย์ จะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิตไปด้วย
ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับ ในกรณีที่ผู้ทำประกันเสียชีวิต ก็มีตั้งแต่ 100% ของจำนวนเงินประกันภัย ไปจนถึง 200% เลยก็ได้ แล้วแต่เงื่อนไขที่แต่ละบริษัทกำหนด
ทำให้ผู้ที่ทำประกันสะสมทรัพย์ นอกจากจะได้โอกาสสร้างผลตอบแทนแล้ว ก็ยังไม่ต้องกังวลว่า หากตัวเองตายไปแล้ว จะทิ้งให้คนข้างหลังต้องลำบากมาก เพราะอย่างน้อยก็มีเงินก้อนจำนวนหนึ่งไว้ดูแล
3. ลดหย่อนภาษีได้
นอกจากเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ที่เราจ่ายไป จะทำให้เราได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว
เบี้ยประกันสะสมทรัพย์นั้น สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย โดยจะหักได้ตามจริง ในจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท
นั่นจึงทำให้คนที่ต้องการประหยัดภาษี สามารถเลือกใช้การซื้อประกันสะสมทรัพย์ เพื่อลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน
4. สร้างวินัยทางการออม
หลาย ๆ คนมักจะประสบปัญหากับการออมเงินได้ไม่ตรงตามเป้า เพราะการฝากเงินในบัญชีธนาคารปกติ ไม่มีใครมาย้ำเตือน ให้เราต้องคอยฝากเงิน เว้นแต่ตัวเราเอง
ส่งผลให้หลาย ๆ ครั้ง จิตใจของเราที่มั่นคงไม่มากพอ ก็ทำให้แผนการออมที่วางไว้ ต้องพังตามไปด้วย
ทำให้บางคนอาจจะเลือกออมกับประกันสะสมทรัพย์แทน เพื่อสร้างวินัยทางการออมให้กับตัวเอง เพราะประกันต้องจ่ายเบี้ยเป็นรายงวดสม่ำเสมอ
ทำให้สามารถช่วยปลูกฝังนิสัยการออม ได้ดีกว่าการออมด้วยตัวเองโดยไม่มีภาระผูกพัน
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของประกันสะสมทรัพย์ ก็คือเรื่องของ “สภาพคล่อง”
เนื่องจากการซื้อประกันสะสมทรัพย์นั้น เงินของเราจะถูกล็อกอยู่ในตัวกรมธรรม์ อย่างต่ำก็คือ 10 ปี และไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้
หรือถ้าหากจะถอนออกมาใช้จริง ๆ ก็ถือว่าเป็นการได้ไม่คุ้มเสียเท่าไรนัก เพราะการยกเลิก หรือที่เรียกว่า “เวนคืนกรมธรรม์” นั้น
เราจะไม่ได้เงินเท่ากับเบี้ยประกันที่เสียไป แต่จะได้เงินคืนเท่ากับมูลค่าเงินสด ซึ่งน้อยกว่าเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไป
และถ้าหากเราเลือกเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อเอาเงินคืน ในช่วงก่อนที่จะครบ 10 ปี ภาษีที่เราเคยลดหย่อนไปในแต่ละปี ก็จะกลายมาเป็นเงินให้เราจ่ายคืนแทน
แถมเงินภาษีที่ต้องจ่ายคืนนั้น ยังต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากมีการคิดดอกเบี้ยกว่า 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย
เพราะฉะนั้น ถ้าหากใครอยากซื้อประกันสะสมทรัพย์ไปยาว ๆ เพื่อลดหย่อนภาษี หรือเพราะเรื่องของความคุ้มครอง ก็ควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องสภาพคล่องในระยะยาว ของตัวเองด้วย
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ประกันสะสมทรัพย์นั้น เป็นหนึ่งในทางเลือกของการออม ที่แตกต่างจากบัญชีเงินฝากทั้งออมทรัพย์ และฝากประจำ พอสมควร
เพราะประกันสะสมทรัพย์ สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แถมยังมีประโยชน์ในเรื่องของความคุ้มครองชีวิต และการลดหย่อนภาษี ที่การมีบัญชีเงินฝากให้ไม่ได้ด้วย
ทำให้ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีคนที่ซื้อประกันสะสมทรัพย์อยู่เรื่อย ๆ แม้หลายคนจะมีเงินฝากอยู่แล้วก็ตาม
เนื่องจากต้องการใช้ประโยชน์เหล่านี้ ที่บัญชีเงินฝากไม่สามารถให้ได้ นั่นเอง..
References