Netflix ลงทุนคอนเทนต์ปีละแสนล้าน แต่ทำไมกำไรทุกปี

Netflix ลงทุนคอนเทนต์ปีละแสนล้าน แต่ทำไมกำไรทุกปี

9 พ.ค. 2024
Netflix ลงทุนคอนเทนต์ปีละแสนล้าน แต่ทำไมกำไรทุกปี | MONEY LAB
ทุกวันนี้ คนหลายคนน่าจะเลือกเปิดดู Netflix บ่อยกว่าเปิดดูช่องเคเบิลทีวีแบบเดิม ๆ กันแล้ว
ซึ่งแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Netflix ก็ต้องมีการลงทุนในการสร้าง หรือซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ มาลงในแพลตฟอร์มของตัวเอง
ไม่ต่างอะไรจากช่องเคเบิลทีวีทั่วไป ที่ต้องมีงบประมาณในการผลิตรายการทีวีไปเรื่อย ๆ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามารับชมตลอดเวลา
เคยรู้กันมาบ้างหรือไม่ว่า ถึงแม้ Netflix จะต้องลงทุนป้อนคอนเทนต์เข้าแพลตฟอร์มไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท แต่ Netflix ก็ยังสามารถทำกำไรได้ทุกปี
แล้วทำไม Netflix ถึงสามารถทำกำไรได้ตลอด แม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่เกี่ยวกับคอนเทนต์ทุก ๆ ปี ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Netflix ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ หรือสารคดี ล้วนเป็นสิ่งที่ Netflix ต้องใช้เงินจ่ายออกไป เพื่อนำคอนเทนต์เหล่านี้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มทั้งสิ้น
โดย Netflix จะบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้เป็น “ต้นทุนขาย” ในงบกำไรขาดทุน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ค่าซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากค่ายหนังต่าง ๆ ซึ่งคอนเทนต์ลักษณะนี้จะมีอายุการใช้งานที่จำกัด เมื่อหมดสัญญาลงแล้ว หนังที่ถูกซื้อมาก็จะถูกถอดออกจาก Netflixต้นทุนในการผลิตคอนเทนต์ออริจินัลของตัวเอง ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีฉายเฉพาะใน Netflix เท่านั้น และ Netflix ก็จะถือลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เหล่านั้นด้วย
โดยการรับรู้ค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ที่กล่าวไปข้างต้น จะเป็นลักษณะของการทยอยตัดจำหน่ายค่าเสื่อมราคา
อย่างในกรณีของ Netflix 90% ของคอนเทนต์ จะใช้เวลาตัดค่าเสื่อมราคาประมาณ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มออกฉาย
หมายความว่า เมื่อผ่านไป 4 ปี บริษัทก็จะไม่ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์นั้นอีกต่อไป เพราะถือว่าทยอยรับรู้ไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับคอนเทนต์ในปีแรก ๆ อาจสูงกว่าช่วงปีหลัง ๆ สาเหตุก็เป็นเพราะว่าทางบริษัทคิดค่าเสื่อมราคาแบบอัตราเร่ง
ยกตัวอย่างเช่น
ซีรีส์เรื่องหนึ่งใช้ทุนในการสร้าง 100 ล้านบาท
ปีแรก บริษัทก็อาจตัดค่าใช้จ่ายไป 35 ล้านบาท
ปีต่อมา ก็อาจจะตัด 25 ล้านบาท
และตัดอีกปีละ 20 ล้านบาท ในอีก 2 ปีถัดมา
ที่ Netflix เลือกทำแบบนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการบริโภคคอนเทนต์ เพราะโดยปกติแล้ว คอนเทนต์จะมียอดผู้ชมมากที่สุดในช่วงเริ่มแรก และจากนั้นยอดผู้ชมก็จะลดลงไปตามกาลเวลา
การทยอยตัดค่าใช้จ่ายแบบนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Netflix ถึงสามารถทำกำไรได้ แม้จะมีรายจ่ายลงทุนที่ค่อนข้างสูงทุกปี
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า แม้บริษัทจะเลือกวิธีการทยอยรับรู้ค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 4 ปีแบบนี้ แต่เงินสดที่บริษัทจ่ายออกไปเพื่อลงทุน มักจะจ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว
ทำให้ในปีที่บริษัทมีแผนลงทุนเกี่ยวกับคอนเทนต์จำนวนมาก ตัวเลขกำไรที่เราเห็น อาจจะไม่ได้สะท้อนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้
เนื่องจากเงินสดที่ Netflix ใช้ในการซื้อ หรือผลิตคอนเทนต์ จะถูกบันทึกลงในส่วนของกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
ซึ่งในปี 2015-2019 เป็นช่วงเวลาที่ Netflix มีการลงทุนในคอนเทนต์ค่อนข้างมาก จนทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปีเลยทีเดียว แม้บริษัทจะแสดงกำไรเป็นบวกทุกปีก็ตาม
โดยเฉพาะในปี 2016 ที่รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของบริษัท จะถูกใช้เป็นการลงทุนเกี่ยวกับคอนเทนต์มากถึง 98 บาทเลยทีเดียว
จนในปี 2020 โลกเกิดวิกฤติโรคระบาด ทำให้ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน ธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิงของ Netflix จึงได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ
เมื่อมีคนสมัครเข้ามาใช้บริการมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลง เพราะมีการล็อกดาวน์ ก็ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกได้ในที่สุด
และนับตั้งแต่ปี 2020 Netflix ก็มีฐานผู้ใช้งาน และรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด
ซึ่งความแข็งแกร่งของธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบ Netflix ก็คือ รายจ่ายลงทุนในคอนเทนต์จะเติบโตไปได้ถึงระดับหนึ่ง ก็จะหยุดนิ่ง
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตคอนเทนต์ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสมัครใช้งาน Netflix ทุกเดือน ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน
ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่มีฐานผู้ใช้งานมากพอ จะทำให้ Netflix สามารถสร้างกระแสเงินสดได้เป็นอย่างมาก
และวันหนึ่ง Netflix ก็น่าจะกลายเป็นอีกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่มีเงินสดล้นมือจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี..
Reference:
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.