หลักการลงทุน หุ้น 10 เด้ง ของนายก ThaiVI คนปัจจุบัน

หลักการลงทุน หุ้น 10 เด้ง ของนายก ThaiVI คนปัจจุบัน

8 ธ.ค. 2023
หลักการลงทุน หุ้น 10 เด้ง ของนายก ThaiVI คนปัจจุบัน | MONEY LAB
ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าท่านหนึ่ง ที่สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนแบบทบต้น ได้มากกว่า 30% ต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
คิดง่าย ๆ ว่า ด้วยผลตอบแทนและระยะเวลาในการลงทุนเท่านี้ สามารถเปลี่ยนจากเงิน 1 ล้านบาท ให้กลายเป็นเงินสูงถึง 190 ล้านบาทได้เลย
นักลงทุนท่านนั้น ก็คือ คุณเฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ
หรือ พี่เชาว์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ ThaiVI คนปัจจุบัน นั่นเอง
แล้วพี่เชาว์มีหลักการลงทุนอย่างไร ถึงสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงต่อเนื่อง แบบนี้ได้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
หลักการลงทุนของพี่เชาว์ สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้จัก และเข้าใจเป็นอย่างดี
การลงทุนคือการคาดการณ์อนาคตของสิ่งที่เราจะลงทุนให้ถูกต้อง ถ้าเราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้อง เราก็จะได้กำไร
ในการจะคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำนั้น เราจะต้องรู้จักและเข้าใจในธุรกิจของบริษัทที่เราจะลงทุน อย่างละเอียด
เช่น รู้ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร และมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
หากเราเข้าใจธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี เราก็จะสามารถคาดการณ์อนาคตของบริษัทได้แม่นยำขึ้น
สำหรับโลกของการลงทุนแล้ว ความเสี่ยงที่สุด ก็คือความไม่รู้
ถ้าเราลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้จักและไม่เข้าใจ นั่นนับเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุด และมีโอกาสสูงมาก ที่จะทำให้เราขาดทุนได้
สำหรับวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้เราเข้าใจบริษัทอย่างละเอียด ก็คือ การทำ Scuttlebutt
การทำ Scuttlebutt คือการตรวจสอบคุณภาพของบริษัทในเชิงลึก ในทุก ๆ ด้าน
เช่น การตรวจสอบว่าลูกค้า, คู่แข่ง, ซัปพลายเออร์, พนักงาน และผู้จัดจำหน่าย มีความคิดเห็นเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนอย่างไร
นอกจากนี้ การทำ Scuttlebutt ยังรวมไปถึงการตรวจสอบบุคลิกและพฤติกรรมของผู้บริหารด้วย เพื่อวิเคราะห์ว่า ผู้บริหารเป็นคนมีธรรมาภิบาลและน่าเชื่อถือหรือไม่
ยิ่งเราสามารถ Scuttlebutt บริษัทได้ละเอียดเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เราเข้าใจบริษัทได้ดีขึ้น
ลงทุนในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ในโลกของธุรกิจ มีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก เพราะอย่างที่เราได้เห็นกันมาตลอดว่า บริษัทที่เคยโด่งดังมากในอดีต มาวันนี้ ก็อาจมีบางบริษัทล้มหายตายจากกันไปบ้าง
แต่ที่ผ่านมา ก็มีบางบริษัทที่ยังอยู่รอด ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติเศรษฐกิจมาได้เสมอ และกิจการของบริษัท ก็ยังสามารถเติบโตขึ้นมาได้ ตลอดหลายปี
บริษัทแบบนี้คือบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ส่วนประกอบสำคัญ ที่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน มีอยู่หลายอย่าง เช่น
บริษัทมีแบรนด์ของสินค้าที่โดดเด่นบริษัทมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและซัปพลายเออร์สูงบริษัทมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่ต่ำกว่าคู่แข่ง
หากบริษัทมีสิ่งเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนมีป้อมปราการที่จะช่วยปกป้อง ให้บริษัทสามารถทำธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต ได้อย่างยาวนาน
และทำให้มีโอกาสน้อย ที่จะโดนคู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจไปได้ ในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า
ดังนั้น บริษัทแบบนี้จึงมักเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง มีรายได้, กำไร, เงินปันผล และกระแสเงินสด เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน มักจะเป็นบริษัทที่มีความแน่นอนสูง ทำให้เรายังพอสามารถคาดการณ์อนาคตของบริษัทได้ไม่ยากนัก
ใช้ “หลักการดันโด” วิเคราะห์ความเสี่ยง
หลักการลงทุนแบบดันโด นั้นมาจากคุณ Mohnish Pabrai นักลงทุนผู้ถอดแบบสไตล์การลงทุน และการบริหารกองทุนมาจากคุณ Warren Buffett
ใจความหลักของหลักการลงทุนดังกล่าวก็คือ การพยายามสร้างความมั่งคั่งให้มากที่สุด โดยให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
ดังนั้น หลักการนี้จะสามารถช่วยเราในการประเมินระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนได้
ผ่านการวิเคราะห์ว่า หากเราคาดการณ์อนาคตได้ถูก เราจะได้ผลตอบแทนเท่าไร และถ้าเราคาดการณ์ผิด เราจะขาดทุนเท่าไร
หากเรานำหลักการดันโดไปใช้ในการลงทุนได้ถูกต้อง
เวลาเราวิเคราะห์ถูก เราก็จะได้กำไรเยอะ
และเมื่อเวลาเราวิเคราะห์ผิด เราก็จะขาดทุนน้อย
ลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม
หลักการลงทุนของพี่เชาว์นั้น แค่เลือกหุ้นดีที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนอย่างเดียว ยังไม่พอ
แต่จะต้องเลือกลงทุนในช่วงที่มีโอกาสเหมาะสมด้วย คือตอนที่ราคาหุ้นยังถูกอยู่
เพราะหากเราซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป โอกาสที่เราจะได้กำไรสูง ๆ ก็จะมีน้อย แถมยังมีโอกาสในการขาดทุนที่สูงด้วย
ทางที่ดี เราก็ควรจะประเมินมูลค่าของบริษัทให้เป็น และเลือกลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้น อยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
แน่นอนว่า บางครั้ง เราอาจจะมีการวิเคราะห์ผิดไป และทำให้เกิดการขาดทุนขึ้นบ้าง
แต่ถ้าเราประยุกต์​ใช้เข้ากับหลักการดันโด เมื่อเราเลือกลงทุนในหุ้นได้ถูกตัว เราก็จะได้กำไรกลับมามากมายมหาศาล
และในที่สุด พอร์ตการลงทุนของเราก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเอง
กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม
นอกจากเราจะต้องหาหุ้นดี มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง และการประเมินมูลค่าอย่างละเอียดแล้ว เรายังต้องมีการกระจายความเสี่ยง ด้วยการถือหุ้นในจำนวนที่เหมาะสมด้วย
สำหรับพี่เชาว์นั้น จำนวนหุ้นที่เหมาะสมในพอร์ต คืออยู่ระหว่าง 5 ถึง 10 ตัว
เพราะถ้าถือมากเกินกว่า 10 ตัว เราก็จะเริ่มติดตามบริษัทเหล่านั้น ไม่ค่อยไหว
แต่ถ้าถือหุ้นน้อยตัวเกินไป ก็เหมือนว่ายังจัดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงได้ไม่ดีพอ
ที่สำคัญ นอกจากการถือหุ้น 5 ถึง 10 ตัวแล้ว เรายังต้องจัดสัดส่วนด้วยว่า เราควรจะถือหุ้นแต่ละตัว เป็นสัดส่วนเท่าไรของพอร์ตการลงทุน
สำหรับหุ้นที่พี่เชาว์มีความมั่นใจในคุณภาพและการเติบโตของกิจการมาก ก็อาจจะถือมากถึง 30% ของพอร์ต
แต่ถ้าหุ้นตัวไหนที่ยังไม่มั่นใจในคุณภาพของบริษัทมากนัก พี่เชาว์ก็อาจจะถือเป็นสัดส่วนที่ยังไม่มากนัก
โดยที่หุ้นบางตัว พี่เชาว์เองก็ถือมานานกว่า 10 ปี สาเหตุเพราะว่าบริษัทยังคงมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และผลประกอบการของบริษัทก็ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอยู่
อ่านมาถึงตรงนี้ หลักการลงทุนของพี่เชาว์นั้น หากจะสรุปเป็นใจความสั้น ๆ ก็คงไม่ต่างกับหนึ่งในคำแนะนำอันโด่งดังของคุณ Warren Buffett นักลงทุนระดับตำนาน ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“หลักการรวบยอดของการลงทุนก็คือ เลือกหุ้นที่ดี ในเวลาที่ดี และถือมันไว้ ตราบเท่าที่มันยังเป็นกิจการที่ดี..”
References
หนังสือ วิถีแห่ง VI (2023) บท “ลงทุนยังไง ให้ได้หุ้น 10 เด้ง” โดย เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญหนังสือ ดรีมทีม วีไอ ไทยแลนด์ พอร์ตหมื่นล้าน (2013) โดย ชาลินี กุลแพทย์หนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings (1957) โดย Philip Fisherหนังสือ Warren Buffett Speaks: Wit and Wisdom from the World's Greatest Investor (1997) โดย Janet Lowe
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.