สรุป 6 เคล็ดลับประหยัดภาษี ฉบับคนทำงาน ฟรีแลนซ์

สรุป 6 เคล็ดลับประหยัดภาษี ฉบับคนทำงาน ฟรีแลนซ์

7 ต.ค. 2024
“รายได้แต่ละเดือนเดี๋ยวน้อยเดี๋ยวมาก คำนวณภาษียากจัง”
“ค่าจ้างถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ยังต้องยื่นภาษีปลายปีด้วยเหรอ ?”
“ได้รับค่าจ้างเป็นเงินสด ต้องเอาไปคำนวณภาษีไหมนะ ?”
ปัญหาสุดคลาสสิกเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์หลายคนต้องเผชิญ 
ทำให้หลายคนอาจจะวางแผนภาษีได้ผิดพลาด จนเสียโอกาสในการประหยัดภาษีอย่างถูกต้อง หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ การต้องเสียค่าปรับให้กับสรรพากร
แล้วฟรีแลนซ์ควรวางแผนภาษีอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ในทางภาษี ฟรีแลนซ์ จัดอยู่ในเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) คือ เงินได้จากการรับจ้างทำงานให้
ขยายความเพิ่มเติม 
เงินได้ 40(2) คือ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่ได้สังกัดบริษัทใด รับงานและส่งงานตรงกับนายจ้าง โดยจะได้รับค่าจ้างเมื่องานเสร็จแล้ว และค่าจ้างที่ได้รับมักถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ซึ่งรายได้ไม่ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แล้ว หรือรายได้ที่ได้รับเป็นเงินสด ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษีทั้งหมด
โดยทางสรรพากรกำหนดให้เงินได้ 40(2) สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นแบบเหมาได้ร้อยละ 50 สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท 
ทำให้ถ้าหากลองคำนวณหาจำนวนรายได้สุทธิ ที่ต้องเริ่มเสียภาษี ด้วยการหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท
นั่นเท่ากับว่า หากมีรายได้ทั้งปีเกิน 310,000 บาทขึ้นไป จะต้องเริ่มเสียภาษีแล้ว
ด้วยค่าใช้จ่ายที่หักได้จำกัด ฟรีแลนซ์จึงควรมองหาวิธีลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม โดยควรเน้นวิธีที่ไม่เพียงช่วยประหยัดภาษี แต่ควรเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพด้วย
ทีนี้เราลองมาดูเคล็ดลับการวางแผนพื้นฐานที่ฟรีแลนซ์ควรมีกัน
1. ประกันสุขภาพ
เราอาจจะเคยได้ยินว่า ฟรีแลนซ์ เป็นอาชีพห้ามป่วย ห้ามพัก เพราะรายได้เดือนนี้ของเราจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าทำงานได้มากแค่ไหน
สุขภาพจึงเป็นทุนสำคัญ ในการทำงานของฟรีแลนซ์ นอกจากนี้การมีประกันสุขภาพ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาลที่อาจสูงเกินคาด และทดแทนการไม่มีประกันกลุ่มจากนายจ้างเหมือนพนักงานประจำ
ที่สำคัญ เบี้ยประกันสุขภาพ ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 25,000 บาท อีกด้วย 
2. ประกันสังคม มาตรา 40
เป็นสวัสดิการของรัฐในภาคสมัครใจ ที่ให้สิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น เงินทดแทนรายวันยามเจ็บป่วย เงินบำเหน็จชราภาพ เงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เป็นต้น
โดยหากไม่เคยทำงานมาก่อน จะต้องเข้ามาตรา 40 แต่หากเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วลาออก ส่งเงินสมทบต่อเองจะเข้ามาตรา 39 
การเข้าระบบประกันสังคมนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว เงินสมทบที่เราจ่ายยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย 
3. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
เป็นกองทุนส่งเสริมการวางแผนออมเงินในระยะยาวของคนประกอบอาชีพอิสระ ทำหน้าที่คล้ายกองทุนชราภาพในระบบประกันสังคม 
และคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่เป็นสวัสดิการของบริษัทเอกชน
โดยสมาชิก กอช. สามารถเลือกออมเงินได้ตามความสมัครใจ และเมื่ออายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือน
แต่ทั้งนี้หากเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จะสมัครได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในมาตรา 40 ทางเลือก 1 เท่านั้น
หลังจากรู้วิธีการวางแผนพื้นฐานแล้ว หากปีไหนที่รายได้เข้ามาเยอะ เราก็ควรพิจารณาหาตัวเลือกการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เช่น
4. ประกันชีวิต
หากพิจารณาเฉพาะเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน แบบประกันที่เหมาะสมคือ แบบประกันที่จ่ายเบี้ยระยะสั้น
หรือหากคาดว่ารายได้เข้ามาเยอะในปีเดียว ก็ควรทำประกันชีวิตแบบที่จ่ายเบี้ยประกันเพียง 1 ปีเท่านั้น
โดยเบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
5. กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
กองทุนลดหย่อนภาษีที่ลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก
เป็นกองทุนที่ไม่ต้องลงทุนทุกปีและกำหนดระยะเวลาถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ
โดยสามารถซื้อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุด 300,000 บาท
และที่สำคัญวงเงินลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ 
6. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
กองทุนลดหย่อนภาษี ที่มีให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งลงทุนหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 
เป็นกองทุนที่ไม่ต้องลงทุนทุกปี และกำหนดระยะเวลาถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
โดยสามารถซื้อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุด 200,000 บาท 
และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
โดยค่าลดหย่อนเพื่อเกษียณในวงเงิน 500,000 บาท ได้แก่ 
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูฯ
- กองทุนการออมแห่งชาติ
- ประกันบำนาญ
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 
สรุปแล้ว การวางแผนภาษีอย่างรอบคอบไม่เพียงช่วยให้ฟรีแลนซ์ประหยัดภาษีได้อย่างถูกต้อง แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวอีกด้วย
และสิ่งสำคัญที่สุดที่ฟรีแลนซ์ต้องตระหนักคือ การยื่นภาษีอย่างถูกต้องและตรงเวลา 
เพราะเมื่อเราจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปต่อยอดให้ชีวิตเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การออม หรือแม้แต่การวางแผนเกษียณ
สุดท้ายแล้ว ภาษีอาจดูเป็นเรื่องน่าปวดหัวในตอนแรก แต่ถ้าเราเข้าใจและวางแผนอย่างถูกต้อง มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาวได้นั่นเอง..
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.