
Futures เครื่องมือทำกำไร ของเฮดจ์ฟันด์ ที่คนญี่ปุ่น ใช้ซื้อขายข้าว ตั้งแต่สมัยอยุธยา
19 มี.ค. 2025
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วตลาด Futures ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับปัจจุบัน มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปเอเชียของเราเอง นั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนที่ในเวลาต่อมา เครื่องมือทางการเงินนี้จะแพร่หลายออกไปในหลายประเทศ จนกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเงินยอดฮิตในการทำกำไรของนักลงทุนเฮดจ์ฟันด์ในปัจจุบัน
และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ระยะเวลาที่เครื่องมือนี้เกิดขึ้นนั้น สามารถสืบย้อนกลับไปได้นานถึง 300 ปีก่อน
หรือถ้าเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเป็นอาณาจักรอยุธยา ตอนนั้นคนญี่ปุ่นก็มีเครื่องมือการเงินสุดล้ำอย่าง Futures ให้ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
ถ้าอยากรู้ว่า เมื่อ 300 ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Futures ทำอะไรบ้าง ?
แล้วการใช้ Futures เมื่อ 300 ปีก่อน ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต จะแตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ข้าว เป็นสินค้าทางการเกษตรที่ล้ำค่ามากในสังคมญี่ปุ่นยุคโบราณ เพราะข้าวเป็นทั้งอาหารหลัก และเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น ๆ
รู้หรือไม่ว่า ในยุคศตวรรษที่ 17 ภายใต้การปกครองของโชกุนตระกูลโทกูงาวะ รายได้ภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่น ถูกเรียกเก็บเป็นข้าวมากถึง 90% ของรายได้รวม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาระหว่างปี 1600-1700 ประชากรในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 12 ล้านคน ในปี 1600 ขึ้นมาแตะระดับ 30 ล้านคน ในปี 1700
ข้าวจึงยิ่งกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากในสังคมญี่ปุ่น เพราะความต้องการข้าว ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่มีมากขึ้น
แม้ชาวญี่ปุ่นในอดีตจะใช้ข้าวแทนเงินตรา แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าข้าวก็ยังคงเป็นสินค้าเกษตร ที่มีช่วงฤดูเพาะปลูก ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของมัน ทำให้ในบางช่วงเวลา อาจจะเกิดการขาดแคลนข้าว จนทำให้ข้าวมีราคาสูงจนเกินไปได้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้พ่อค้าข้าวญี่ปุ่นรวมตัวกันก่อตั้งตลาดซื้อขายข้าว แถวแม่น้ำโดจิมะ ในเมืองโอซากา เรียกว่า The Dojima Rice Exchange ในปี 1697 เนื่องจากในสมัยนั้นโอซากา เป็นศูนย์กลางของโกดังข้าวของญี่ปุ่น
และต่อมา ตลาดแห่งนี้ก็กลายมาเป็นต้นกำเนิดการใช้เงินเหรียญ และเงินกระดาษของญี่ปุ่น เพื่อชำระราคาซื้อขายสัญญา Futures อีกด้วย
ในตลาดโดจิมะ ประกอบไปด้วยการซื้อขายข้าว ที่สามารถส่งมอบสินค้ากันได้ทันที หรือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า Spot Market
และการทำสัญญาซื้อขายข้าวกันล่วงหน้า หรือที่เราเรียกกันว่า Futures Market
สัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าของตลาดแห่งนี้ มีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันกับสัญญา Futures ในปัจจุบันหลายอย่าง
โดยการทำสัญญา Futures ในปัจจุบันนั้น จะมีส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่
- ราคาซื้อขาย ณ วันที่มีการส่งมอบสินค้าในอนาคต
- อายุของสัญญา
- ปริมาณสินค้าที่จะต้องส่งมอบกัน
- บัญชีมาร์จิน ที่นักลงทุนต้องเอาเงินจำนวนหนึ่งไปวางค้ำประกันไว้ก่อน
พ่อค้าข้าวในตลาดโดจิมะ ณ ตอนนั้น ก็ไม่ต่างกัน เพราะว่าพวกเขาจะทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า กับพ่อค้าคนอื่น
โดยกำหนดชัดเจนว่า จะได้ข้าววันไหน และต้องซื้อหรือขาย ด้วยปริมาณและราคาเท่าไรบ้าง พร้อมกับมีการวางเงินหลักประกันบางส่วนเอาไว้
เพียงเท่านี้ก็สามารถทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้ากันได้เป็นตัน ๆ แล้ว
เมื่อถึงวันที่จะส่งมอบสินค้ากันจริง ๆ ค่อยนำเงินมาชำระค่าข้าวส่วนที่เหลือ
ซึ่งวิธีนี้ก็เหมือนกับการซื้อสัญญา Futures ในยุคปัจจุบัน ที่แค่มีเงินวางหลักประกันไว้บางส่วน ก็สามารถซื้อสัญญา Futures เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้เราได้แล้ว
นอกจากนี้ตลาดโดจิมะ ยังมีตัวกลางคอยชำระบัญชีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รวมไปถึงสร้างโกดังเพื่อทำหน้าที่เก็บข้าวไว้ เตรียมส่งมอบให้กับผู้ซื้อด้วย
เหมือนกับตลาด Futures ในปัจจุบัน ที่ตลาดจะเป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีฝ่ายไหนเบี้ยวสัญญาระหว่างกัน
ในโลกการเงิน การลงทุน เราเรียกความเสี่ยงของการถูกเบี้ยวสัญญาว่า “Counterparty Risk”
แต่หากพ่อค้าคนไหน เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากรับมอบข้าวจริง ๆ แล้ว ก็สามารถขายสัญญา Futures ต่อให้พ่อค้าคนอื่น ๆ ในตลาดก็ได้เช่นกัน
เหมือนกับการขายสัญญา Futures ก่อนที่จะถึงวันหมดอายุสัญญา ในตลาด Futures ในปัจจุบันนี้เลย
โดยในตลาดโดจิมะ จะมีตำแหน่งคล้ายโบรกเกอร์ในปัจจุบัน ที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น คอยดูแลเรื่องการซื้อขายสัญญาของพ่อค้าในตลาดแห่งนี้อยู่
ทำให้ตลาดโดจิมะของญี่ปุ่น เริ่มค่อย ๆ มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากกลุ่มชนชั้นสูง และพ่อค้าที่กุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ต่างเข้ามาลงทุน เก็งกำไรในตลาดแห่งนี้กันทั้งนั้น
จนรัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มมองเห็นว่า หากปล่อยให้มีการเก็งกำไรโดยที่ไม่มีการควบคุม ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ราคาข้าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเก็งกำไรของผู้คนในตลาดโดจิมะ จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนข้าวในบางพื้นที่
รัฐบาลจึงต้องมีการสั่งปิดตลาดแห่งนี้เป็นระยะ ๆ แต่พอเรื่องผ่านไปสักพักก็กลับมาเปิดตลาดแห่งนี้ใหม่ โดยที่ไม่มีการหามาตรการในการป้องกันการปั่นราคาข้าว
จนกระทั่งในปี 1773 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามาวางกฎระเบียบการทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า และควบคุมโกดังเก็บข้าวด้วยตัวเอง
ต่อมาในปี 1939 มีการจัดตั้งหน่วยงานข้าวของรัฐบาล เพื่อดูแลการซื้อขายข้าวในญี่ปุ่น และกลายเป็นจุดสิ้นสุดของตลาดโดจิมะไปตลอดกาล
แต่ถึงแม้ตลาดแห่งนี้จะปิดตัวลงไปแล้ว แต่นวัตกรรมทางการเงินที่เรียกว่าสัญญา Futures ก็ยังคงอยู่
เพียงแค่เปลี่ยนคนใช้งาน จากพ่อค้าในตลาดค้าข้าว มาเป็นนักลงทุน รวมไปถึงผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ ในตลาดค้าหุ้นแทน..
#ลงทุน
#ประวัติศาสตร์
#Futures
References