ลอกเซียนหุ้นอย่างไร ให้เราเก่งขึ้นได้ แบบนักลงทุนดันโด
10 ธ.ค. 2024
“ผมเป็นนักก๊อบไร้ยางอาย ทุกสิ่งในชีวิตของผมคือการเลียนแบบ ผมไม่มีไอเดียอะไรเป็นของตัวเอง”
คือคำที่คุณ Mohnish Pabrai นักลงทุนชาวอินเดีย ที่หลายคนรู้จักกันในนาม “นักลงทุนดันโด” ได้กล่าวไว้
นั่นก็เป็นเพราะว่าที่ผ่านมานั้น เขายอมรับมาโดยตลอดว่า หลักการลงทุนของเขานั้น มาจากการก๊อบปี้นักลงทุนในตำนานอย่างคุณ Warren Buffett และคู่หูอย่างคุณ Charlie Munger
แน่นอนว่าคุณ Pabrai ก็ไม่ได้ก๊อบปี้หลักการลงทุนของ 2 นักลงทุนในตำนานมาทั้งดุ้น เพราะสุดท้ายเขาก็ตกผลึกจนสร้างหลักการลงทุนแบบดันโด ของตัวเองขึ้นมาได้
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คุณ Pabrai มีกระบวนการลอกเลียนแบบเซียนหุ้นอย่างไร ถึงทำให้สุดท้ายตัวเองก็กลายเป็นนักลงทุนที่เก่งได้เหมือนกัน
แล้วถ้าหากสงสัย ต้องลอกเซียนหุ้นอย่างไร ถึงจะกลายเป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้นแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ณ สนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มจากเมืองมุมไบคนนี้ กำลังอ่านนิตยสารฆ่าเวลาเพื่อรอขึ้นเครื่อง
แต่จากการหาอะไรอ่านเล่นฆ่าเวลา กลับเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ Pabrai ไปตลอดกาล เพราะเขาได้เห็นเรื่องราวความสำเร็จของคุณ Warren Buffett ที่สามารถทำผลตอบแทนได้ 31% เป็นเวลาติดต่อกันได้นานถึง 44 ปี
ซึ่งผลตอบแทนขนาดนี้ ถ้าหากคิดง่าย ๆ ก็คือ คุณ Buffett สามารถทำให้เงินของคนที่มาลงทุนกับเขาตั้งแต่ปี 1950 เติบโตขึ้น 144,523 เท่า เมื่อถึงปี 1994
เรื่องนี้ทำให้คุณ Pabrai นึกย้อนไปถึงตำนานของผู้คิดค้นหมากรุกของอินเดีย ซึ่งเขาเคยได้ยินตอนเด็ก ๆ ที่สอนให้เขาได้เข้าใจแนวคิดของดอกเบี้ยทบต้น
โดยนักประดิษฐ์ได้ขอรางวัลจากพระราชา เป็นข้าวสารเพิ่มขึ้น 2 เท่า สำหรับแต่ละช่องในตารางหมากรุก ซึ่งพระราชาที่คิดไม่ทันก็ตอบตกลงไป
และด้วยความที่ตารางหมากรุกมี 64 ช่อง นั่นจึงทำให้พระราชา ต้องให้รางวัลกับนักประดิษฐ์หมากรุกคนนี้ เป็นข้าวสารจำนวน 2⁶⁴ เมล็ด ซึ่งถ้าเขียนออกมาเป็นตัวเลข ก็บอกได้คำเดียวว่านับไม่ถ้วน
คุณ Pabrai จึงคิดต่อไปอีกว่า ถ้าหากคุณ Buffett ยังคงทำแบบนี้ต่อไปได้เรื่อย ๆ ในไม่ช้าเขาก็น่าจะกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกอย่างแน่นอน
ซึ่งสิ่งที่เขาคิดไว้ก็เป็นจริงในอนาคต เพราะเมื่อปี 2008 คุณ Warren Buffett ก็กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกได้จริง ๆ ด้วยความมั่งคั่ง 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน)
เห็นแบบนี้แล้ว คุณ Pabrai ก็คิดได้ทันทีว่า นี่แหละคือบุคคลแบบอย่างที่เขาควรศึกษา และเขาก็ตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่า จะเปลี่ยนเงินเก็บ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เขามีอยู่จากการขายกิจการส่วนหนึ่ง
ให้กลายเป็นเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 30 ปี ด้วยวิธีการแบบเดียวกันกับคุณ Buffett..
ตรงนี้เองที่คุณ Pabrai เริ่มกระบวนการลอกเลียนแบบเซียนหุ้นในตำนานอย่างบ้าคลั่ง ด้วยการอ่านทุกอย่างที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้หลักการลงทุนของคุณ Buffett ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นั่นก็รวมไปถึง จดหมายถึงผู้ถือหุ้นบริษัท Berkshire Hathaway ย้อนหลังหลายสิบปี ที่เขาก็ไปไล่อ่านจนหมดเช่นเดียวกัน และนั่นก็ทำให้เขาได้รู้จักสุดยอดนักลงทุนอีกคนอย่างคุณ Charlie Munger อีกด้วย
แต่ไม่เพียงแค่การลงทุนเท่านั้น เพราะคุณ Pabrai ยังได้ศึกษาทั้ง วิธีการบริหารธุรกิจ วิธีการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ไปจนถึงวิธีการใช้ชีวิตของคุณ Buffett ด้วย
จากเงินเริ่มต้นเพียง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1995 อีก 4 ปีต่อมา เขาก็เปลี่ยนมันเป็นเงิน 5.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือก็คือทำผลตอบแทนได้ 43.4% ต่อปี ด้วยวิธีการลงทุนที่ลอกมาจากคุณ Buffett
ในปี 1999 คุณ Pabrai ก็ได้ก่อตั้ง Pabrai Funds ขึ้น และใช้วิธีการบริหารกองทุนของตัวเอง แบบเดียวกันกับที่คุณ Buffett ต้นแบบการลงทุนของเขา บริหารบริษัทจัดการลงทุน Buffett Partnership
ซึ่งกองทุนของเขาก็ทำผลตอบแทนได้ดีมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2000 ถึง 2018 ที่เขาทำผลตอบแทนได้มากถึง 1,204% ทิ้งห่างผลตอบแทนของตลาด S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 159% อย่างไม่เห็นฝุ่น
แก่นการลงทุนที่คุณ Pabrai ได้มา จากการลอกเลียนแบบแนวคิดของคุณ Buffett นั้น ก็มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่
1. หัวใจสำคัญของการซื้อหุ้น คือการร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่การซื้อขายไปมาบนกระดาน
2. ตลาดในระยะสั้นมักจะเป็นเครื่องลงคะแนนเสียง มากกว่าเครื่องวัดมูลค่ากิจการ นั่นจึงทำให้การอดทนรอโอกาสที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่ากิจการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
3. มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยในการซื้อหุ้นทุกครั้ง เพื่อป้องกันกรณีที่เราอาจจะประเมินมูลค่าผิดพลาด
จะเห็นได้ว่าหลักการ 3 ข้อข้างต้น จะคล้ายกับหลักการของคุณ Benjamin Graham บิดาแห่งนักลงทุนเน้นคุณค่า ที่เป็นอาจารย์ของคุณ Buffett อีกที
การที่คุณ Pabrai ลอกเลียนแบบคุณ Buffett ในระดับที่ถึงแก่นแบบนี้ เราก็อาจจะคิดว่าคุณ Pabrai คงไม่ต้องเสียเวลาหาหุ้นเอง เพียงแค่ซื้อหุ้นตามคุณ Buffett ก็คงจะพอแล้ว
แต่อันที่จริงแล้ว หุ้นที่คุณ Pabrai ถืออยู่นั้น แทบจะไม่เหมือนกับหุ้นที่ต้นแบบนักลงทุนของเขาถือเลย นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาได้ศึกษาวิธีการเลือกหุ้นของคุณ Buffett แบบถึงแก่นเช่นกัน นั่นก็คือ
- มองหาหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ไม่ใช่มองหาแค่หุ้นราคาถูก
- หลีกเลี่ยงธุรกิจที่เข้าใจยากเกินไป (Too Hard) บริษัทที่เราสนใจ ควรมีโมเดลธุรกิจเข้าใจง่าย
- ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เรารู้จักและเข้าใจ หรือก็คือที่คุณ Buffett เรียกว่าอยู่ใน Circle of Competence ของตัวเอง
ซึ่งการที่คุณ Pabrai มี Circle of Competence ที่ต่างกันกับคุณ Buffett นี้เอง ก็ทำให้เหล่าหุ้นที่เขาถืออยู่ในพอร์ต แทบจะไม่เหมือนกันกับคุณ Buffett เลยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การลอกเลียนแบบเซียนหุ้น หรือบุคคลต้นแบบในการลงทุนนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป
เพราะคุณ Pabrai เองก็บอกอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ เพียงแค่อาศัยการศึกษาจากต้นแบบที่ดี และนำมาต่อยอดเป็นของตัวเอง
เหมือนที่สุดท้ายแล้วเขาก็สามารถตกผลึกแนวทางการลงทุนของตัวเองอย่าง “ดันโด” ได้ในท้ายที่สุด จากการศึกษาหลักการของนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกอย่างคุณ Buffett
แต่ก็อย่างที่เราเห็นว่า การลอกเลียนแบบเซียนหุ้นให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่ใครหลายคนคิด
เพราะการลอกเลียนแบบที่ดี ไม่ใช่การเลียนแบบแค่ว่า นักลงทุนคนนั้น คัดกรองหุ้นด้วยอัตราส่วนอะไร และเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหนบ้าง
แต่เราต้องเรียนรู้ลงไปจนถึงแก่นความรู้ และวิธีคิดของนักลงทุนเหล่านั้น จนเราแทบจะสวมวิญญาณเซียนหุ้นคนนั้นได้เลย เวลาที่จะตัดสินใจลงทุนหุ้นสักตัวหนึ่ง
นอกจากนี้คุณ Pabrai ยังบอกอีกด้วยว่า แม้การลอกเลียนแบบและเรียนรู้จากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ทุกคนเริ่มทำได้
แต่ก็น่าแปลกใจเหมือนกันที่หลายคนนั้นไม่ทำกัน เพราะวิธีนี้นั้นมันดูเรียบง่ายจนเกินไป และในบางครั้งยังมีเรื่องของอีโก้เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้หลายคนมองข้ามวิธีแบบนี้ไป
ด้วยเหตุนี้เอง การจะลอกเลียนแบบและศึกษาแนวคิดของเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จสักคน จึงไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด
เพราะในเรื่องการลงทุน ไม่ได้มีบทลงโทษเป็นการหักคะแนน จากการลอกคนอื่น เหมือนตอนที่เราเรียนอยู่
แต่การลอกเลียนจากต้นแบบที่ผิดเพี้ยนต่างหาก ที่จะนำไปสู่การขาดทุนหนัก หรือทำผลตอบแทนไม่ได้ตามเป้า เป็นบทลงโทษ..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#ดันโด
References