DPAINT เจ้าของสีเดลต้า จากน้องใหม่ดาวรุ่ง สู่ดาวร่วง ที่มูลค่าหายกว่า 90%
3 ธ.ค. 2024
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์มีหุ้น IPO น้องใหม่ที่เข้ามาสร้างความฮือฮาหลายตัว
หนึ่งในนั้นคือ DPAINT บริษัทเจ้าของแบรนด์สีเดลต้า ที่คนไทยคุ้นเคยมานานกว่า 40 ปี
โดยวันแรกที่ทำการซื้อขาย ราคาหุ้นพุ่งทะยานกว่า 200% ไปแตะที่ระดับสูงสุด 22.50 บาท
แต่วันนี้ ราคาหุ้น DPAINT กลับเหลือเพียง 1.17 บาท คิดเป็นมูลค่าบริษัทลดลงเกือบ 5,000 ล้านบาท หรือหายไปถึง 90% จากจุดสูงสุด
เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น DPAINT ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT
ก่อตั้งโดยตระกูลตั้งคารวคุณ ตระกูลที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมสีทาอาคาร มานานกว่า 40 ปี
ธุรกิจของบริษัทนี้ คือการผลิตและจำหน่ายสีทาอาคาร ภายใต้แบรนด์ Delta, Toptech, Deltech, National, IBC, Sefco, Bestco และ Acner
โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้รับเหมาและช่างทาสี เจ้าของที่พักอาศัย และเจ้าของโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน
ช่วงปลายปี 2564 บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีแผนนำเงินไปขยายกำลังการผลิต พัฒนาระบบการจัดการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
แม้จะมีแผนการลงทุนเพื่อการเติบโต แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เพราะปัจจุบันมูลค่าบริษัทลดลงเกือบ 5,000 ล้านบาท หรือหายไปถึง 90% จากราคาที่จุดสูงสุด
ซึ่งเมื่อลองวิเคราะห์ลึกลงไปพบ 2 ประเด็นสำคัญ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้มูลค่าบริษัทลดลง คือ
1. กำไรลด แถมเงินสดยังขาดมือ
ผลประกอบการของ DPAINT ในช่วง 3 ปีย้อนหลังก็ถือได้ว่าไม่ค่อยดีนัก
ปี 2564 รายได้รวม 761 ล้านบาท กำไร 53 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 909 ล้านบาท กำไร 56 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้รวม 1,021 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
และล่าสุด 9 เดือน ปี 2567
รายได้รวม 549 ล้านบาท ขาดทุน 116 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้เติบโตสวนทางกับตัวเลขกำไรที่ลดลง จนล่าสุดพลิกเป็นขาดทุน
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันก็คือ ความสามารถในการทำกำไรที่เป็นเงินสดจริง จากการขายสินค้าและบริการ
ซึ่งดูได้จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน คือ เงินสดที่บริษัท ได้รับจากการทำมาค้าขายของธุรกิจ
หากเป็นบวก หมายความว่า บริษัทมีเงินสดจากการขาย สินค้ามากกว่าเงินสดที่จ่ายออกไป
หากติดลบ นั่นก็หมายความว่า บริษัทมีรายจ่าย ที่เป็นเงินสดในการดำเนินงาน มากกว่าเงินสด ที่ได้รับจากการขายสินค้าในช่วงเวลานั้น
โดยเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานของ DPAINT ในช่วงที่ผ่านมา คือ
ปี 2564
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 17 ล้านบาท
ปี 2565
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน -89 ล้านบาท
ปี 2566
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน -94 ล้านบาท
ล่าสุด 9 เดือน ปี 2567
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน -53 ล้านบาท
ซึ่งกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานที่ลดลงเรื่อย ๆ ก็สัมพันธ์กันกับประสิทธิภาพในการทำธุรกิจที่ลดลง โดยเราจะดูได้จาก “วงจรเงินสด”
โดยวงจรเงินสด จะคำนวณจากการนำ ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ซึ่งจะบอกเราว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหน บริษัทถึงจะได้เงินสดกลับเข้ามาในกิจการ
ในช่วงที่ผ่านมา วงจรเงินสดของ DPAINT จะอยู่ที่
ปี 2564 วงจรเงินสด 7 วัน
ปี 2565 วงจรเงินสด 24 วัน
ปี 2566 วงจรเงินสด 58 วัน
และล่าสุด 9 เดือน ปี 2567 วงจรเงินสด กระโดดขึ้นมาเป็นประมาณ 98 วัน
หรือก็คือ เวลา DPAINT ขายสินค้าทีหนึ่ง ต้องรอนานเกินกว่า 3 เดือน ถึงจะได้เงินสดกลับมา
ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปนั่นก็เป็นเพราะว่า ระยะเวลาการเก็บหนี้ และระยะเวลาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น
เป็นสัญญาณว่า บริษัทขายของแล้วเก็บเงินจากลูกค้าได้ช้าลง และใช้เวลานานขึ้นในการขายสินค้า สะท้อนถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ประกอบกับระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้าลดลงจากเดิม
เป็นสัญญาณว่า บริษัทต้องจ่ายเงินค่าวัตถุดิบ ให้ผู้ขายเร็วขึ้น สะท้อนถึงอำนาจต่อรองที่ลดลง
จากข้อมูลทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า DPAINT กำลังเผชิญ ความท้าทายในหลายด้าน ทั้งความสามารถในการทำ กำไรที่ลดลงจนขาดทุน
แถมมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง จากการเก็บเงินจากลูกค้าที่ช้าลง การขายสินค้าที่ยากขึ้น และการต้องจ่ายเงินให้ผู้ขายเร็วขึ้น
2. ประเด็นข่าวบุคคลในตระกูลตั้งคารวคุณถูกกล่าวโทษ
ปัญหาของ DPAINT นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องปัจจัยพื้นฐาน เพราะล่าสุดมีข่าวว่าบุคคลในตระกูลตั้งคารวคุณ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DPAINT
ถูกกล่าวโทษว่ามีส่วนร่วมในการสร้างราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขายในวันแรกที่หุ้น DPAINT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบต่อภาพลักษณ์ด้าน ESG ของบริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุนระยะยาว ของกองทุนต่าง ๆ
อ่านถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า DPAINT กำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งจากผลการดำเนินงานที่แย่ลง และประเด็นข่าวที่กระทบความเชื่อมั่น
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จนมูลค่าบริษัทหายไปกว่า 90%
ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักลงทุนว่า การลงทุนในหุ้น IPO ที่แม้จะเป็นธุรกิจที่มีประวัติยาวนาน ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เพราะแม้แต่ธุรกิจที่อยู่มานาน แต่เมื่อสภาพตลาดของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ ถ้าเราไม่ทันสังเกต..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#DPAINT
References