กองทุนรวมต่างประเทศ ควรเลือกแบบไหน ไม่ให้กำไรโดน ค่าเงินกัดกิน

กองทุนรวมต่างประเทศ ควรเลือกแบบไหน ไม่ให้กำไรโดน ค่าเงินกัดกิน

20 พ.ย. 2024
ถ้าพูดถึงการลงทุนต่างประเทศ หนึ่งในทางเลือกยอดนิยม คงหนีไม่พ้น การลงทุนผ่านกองทุนรวม 
แต่หลายคนก็อาจจะลืมนึกไปว่า เมื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความเสี่ยงจากค่าเงิน ที่สามารถผันผวนได้รายวัน 
และทำให้กองทุนที่แม้จะลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน แถมมีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน ผลตอบแทนก็อาจไม่เท่ากันได้ ด้วยความแตกต่างกันของนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 
ที่อาจทำให้ผลตอบแทนหดหาย หรือเพิ่มขึ้นได้เลย เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาท   
แล้วเราควรเลือกลงทุนกองทุนแบบไหนดี ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เมื่อลงทุนต่างประเทศ หลายคนอาจนึกถึงผลตอบแทน
จากการลงทุนเป็นหลัก แต่จริง ๆ ปัจจัยเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยน ก็สำคัญไม่แพ้กัน
เวลาเราลงทุนต่างประเทศ เช่น ลงทุนที่สหรัฐอเมริกา เงินลงทุนของเราจะถูกแปลงจากเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อต้องการขายกลับ ก็ต้องแปลงดอลลาร์สหรัฐ กลับมาเป็นเงินบาท
หากช่วงที่ขายและแปลงเงินกลับ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 
1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง กำไรที่เราจะได้รับในรูปเงินบาทก็จะลดลง
ตรงกันข้าม หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น กำไรที่ได้รับในรูปเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้น
เมื่อลงทุนต่างประเทศ ผลตอบแทนที่เราจะได้รับจึง
ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน และผลตอบแทนจากค่าเงิน
ด้วยเหตุผลนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ จึงมักมีให้เลือก แบ่งเป็น 2 แบบหลัก ๆ 
- กองทุนประเภท Unhedge 
หรือก็คือ กองทุนที่ไม่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยง
จากอัตราแลกเปลี่ยน 
กองทุนประเภทนี้จะปล่อยให้ผลตอบแทนขึ้นลง ตามค่าเงิน ทำให้ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ ขึ้นอยู่กับทั้งผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อดีก็คือ กองทุนประเภทนี้ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ที่จะทำให้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดสูงขึ้น 
และมีโอกาสได้กำไรเพิ่มขึ้น หากค่าเงินเป็นใจ แต่ก็แลกมาด้วยความผันผวนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน 
ชื่อกองทุนรวมประเภทนี้ มีตัว UH ต่อท้าย
เช่น K-GHEALTH(UH) หรือ KKP NDQ100-UH
- กองทุนประเภท Hedge 
หรือก็คือกองทุนที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ
กองทุนประเภทนี้จะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อล็อกค่าเงินไว้ ทำให้ผลตอบแทน ที่เราจะได้รับมาจากสินทรัพย์ที่เราลงทุนเท่านั้น 
ข้อดีคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของค่าเงิน แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายของกองทุนที่สูงขึ้น จากการป้องกันความเสี่ยง
ชื่อกองทุนรวมประเภทนี้ บางกองทุนจะมี H ต่อท้าย แต่บางกองทุนจะมีแค่ชื่อกองทุนเท่านั้น เช่น 
K-GHEALTH หรือ KKP NDQ100-H
และอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่า กองทุนรวมที่เราสนใจนั้น มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินหรือไม่ คือ การดูรายละเอียดข้อมูลในหนังสือชี้ชวน
แล้วกองทุนรวมแบบไหนดีกว่ากัน ?
ลองมาดูตัวอย่างกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน แตกต่างกันเพียงนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
ย้อนกลับไปในช่วง 1 ปี ที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า
K-GHEALTH ที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีผลตอบแทนย้อนหลังเท่ากับ 13.81%
ส่วน K-GHEALTH(UH) ที่ไม่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีผลตอบแทนย้อนหลังเท่ากับ 9.71%
จะเห็นว่า กองทุน K-GHEALTH ที่มีการป้องกัน
ความเสี่ยงค่าเงินให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ประมาณ 4% ซึ่งก็สอดคล้องกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 3.81% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นในช่วงที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น กองทุนที่มี
นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะให้ผลตอบแทนดีกว่า
ในทางตรงกันข้าม ย้อนหลังกลับไป 1 เดือนที่ผ่านมา
ช่วงที่ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า
KKP NDQ100-H ที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีผลตอบแทนย้อนหลังเท่ากับ 3.68%
KKP NDQ100-UH ไม่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีผลตอบแทนย้อนหลังเท่ากับ 7.01%
จะเห็นว่า กองทุน KKP NDQ100-UH ไม่มีการป้องกัน ความเสี่ยงค่าเงิน ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ประมาณ 3.33% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 2.86% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
ถึงตรงนี้ก็สรุปได้ว่า ถ้าหากเราคาดการณ์ว่า ในช่วงที่เราลงทุนอยู่จนถึงขายกองทุน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า การซื้อกองทุนประเภท Hedge จะให้ผลตอบแทนดีกว่า 
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเราคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า การซื้อกองทุนประเภท Unhedge จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
หรือถ้าไม่อยากวุ่นวายกับการซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน หรือลงทุนระยะยาวมาก ๆ ก็อาจจะลงทุนทั้งสองแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง ก็ได้เช่นกัน​​​​​​​​​​​​​​​​
ซึ่งการลงทุนแต่ละแบบก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการจะเลือกว่าควรลงทุนแบบไหนดีกว่านั้น 
จึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุน และการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคนนั่นเอง..
#ลงทุน
#กองทุน
#ค่าเงิน
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายกองทุนรวมเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-ข้อมูลกองทุน K-GHEALTH และ K-GHEALTH(UH) ณ วันที่ 6 พ.ย. 2567
-ข้อมูลกองทุน KKP NDQ100-H และ KKP NDQ100-UH ณ วันที่ 7 พ.ย. 2567
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.