ซื้อประกันอย่างไร ให้ได้ลดหย่อนภาษี แถมคุ้มครองเราไป ตลอดชีวิต
11 พ.ย. 2024
ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ การมีประกันสุขภาพที่ดีก็เปรียบเหมือนเกราะป้องกันที่ช่วยให้เรารับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
และในช่วงปลายปีแบบนี้ การทำประกันสุขภาพก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้ความคุ้มครองแล้ว ยังนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม คือประเภทของประกันชีวิตหลักที่เลือกมาควบคู่กับประกันสุขภาพ
เพราะประเภทของประกันชีวิตหลักนี้มีผลโดยตรงต่อระยะเวลาความคุ้มครองของประกันสุขภาพที่ได้รับ
หากอยากรู้ว่าควรเลือกซื้อประกันชีวิตหลักแบบไหน ถึงจะได้ความคุ้มครองในระยะยาว ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การซื้อประกันสุขภาพนั้น มีให้เลือกด้วยกัน 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 ประกันสุขภาพแบบเดี่ยว ที่ซื้อโดยตรงกับบริษัทประกันภัย โดยจะได้ความคุ้มครองเฉพาะด้านสุขภาพ
แบบที่ 2 ประกันสุขภาพแบบสัญญาเพิ่มเติม ที่ต้องซื้อควบคู่กับประกันชีวิตหลัก ให้ความคุ้มครองทั้งเรื่องสุขภาพและความคุ้มครองชีวิต
โดยหากเลือกประกันสุขภาพแบบสัญญาเพิ่มเติม เราก็ควรทำความรู้จักประเภทของประกันชีวิตหลักด้วย
ซึ่งมีด้วยกัน 4 แบบหลัก ๆ คือ
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นแบบประกันชีวิตที่เน้นการได้รับเงินคืนมากกว่าความคุ้มครองที่จะได้รับ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เป็นแบบประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองชีวิตระยะเวลาสั้น ๆ
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นแบบประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองชีวิตระยะยาว
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นแบบประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบรายได้หลังเกษียณ
เบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่าย สำหรับประกันชีวิต 3 แบบแรก จะสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพ
ส่วนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
และถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำประกันชีวิตมาก่อนเลย เราสามารถใช้เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป 100,000 บาทแทน กลายเป็นลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาทด้วย
เมื่อรู้จักประเภทแบบประกันแล้ว ก็กลับมาคำถามที่ว่า
ประกันสุขภาพควรเลือกประกันชีวิตหลักแบบไหน ?
ซึ่งคำตอบก็คือ ควรเลือกแบบที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว
นั่นคือ แบบตลอดชีพ หรือแบบบำนาญ
เพราะเมื่อเราทำประกันสุขภาพ สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ
ความคุ้มครองจะผูกอยู่กับสัญญาประกันชีวิตหลัก
นั่นหมายความว่า ถ้าสัญญาประกันชีวิตหลักครบสัญญา ประกันสุขภาพของเราก็จะต้องสิ้นสุดไปด้วย
ดังนั้นหากเราเลือกทำแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองสั้น อย่างแบบสะสมทรัพย์
หากระหว่างทางนั้น เราโชคดีไม่ได้เจ็บป่วยหรือผ่าตัดร้ายแรง ก็สามารถทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ได้
แต่ในทางกลับกัน หากระหว่างนั้นเราเกิดเจอโรคร้ายแรง หรือมีปัญหาสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพฉบับใหม่นั้น บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองโรคและอาการที่เราเป็นมาก่อน แม้ว่าเราจะทำประกันฉบับใหม่กับบริษัทประกันเดิมก็ตาม
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว เราจึงควรเลือกประกันหลักเป็นตลอดชีพหรือบำนาญตั้งแต่แรก เพราะจะได้ความคุ้มครองยาวไปจนถึงอายุ 85-99 ปี
โดยที่บริษัทประกันจะคุ้มครองโรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปหาทำประกันใหม่ หรือถูกปฏิเสธเมื่อมีโรคประจำตัวด้วย
ลองมาดูตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ
คุณนุ่น เริ่มทำประกันสุขภาพตอนอายุ 30 ปี ตอนนั้นสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่พออายุ 38 ปี ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โชคดีที่รักษาหาย เพราะมีประกันจ่ายค่ารักษาให้
สถานการณ์ที่ 1 หากคุณนุ่นเลือกทำประกันสุขภาพคู่กับประกันชีวิตระยะสั้น 10 ปี
พออายุ 40 ปี สัญญาหมด คุณนุ่นก็ต้องไปทำประกันใหม่ แต่ว่าในประกันฉบับใหม่นี้ บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองโรคมะเร็งที่เคยเป็นอีกแล้ว
ทำให้ถ้าโรคมะเร็งเกิดกลับมาอีก คราวนี้คุณนุ่นต้องจ่ายค่ารักษาเอง
สถานการณ์ที่ 2 หากคุณนุ่นเลือกทำประกันสุขภาพคู่กับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
แม้มะเร็งจะกลับมาอีกครั้งในอนาคต คุณนุ่นก็ยังได้ความคุ้มครองต่อเนื่องยาวไปถึงอายุ 99 ปี โดยไม่ต้องโดนยกเว้นโรคอะไรเลย
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นถึงความสำคัญของการเลือกประกันชีวิตหลักที่จะใช้พ่วงประกันสุขภาพเพิ่มเติมมากขึ้นแล้ว
แต่หากยังสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบประกันที่กำลังดูอยู่เป็นแบบไหน เพราะชื่อประกันส่วนใหญ่มักเป็นชื่อทางการตลาด
จุดสังเกตง่าย ๆ คือ ให้สังเกตในกรมธรรม์หรือเอกสารประกอบการขาย ชื่อแบบประกันชีวิตมักจะตามมาด้วยตัวเลขที่มีเครื่องหมายทับคั่นกลาง
ให้สังเกตตัวเลขที่มากกว่า เพราะตัวเลขมาก แสดงระยะเวลาความคุ้มครองชีวิต
ถ้าหากว่าชื่อแบบประกันไม่แสดงตัวเลข เราก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเล่มกรมธรรม์ หรืออาจจะสอบถามโดยตรงกับตัวแทนประกันชีวิตได้
ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อประกันสุขภาพสักฉบับ เราจึงต้องตระหนักและตรวจสอบให้ดี ว่าแบบประกันหลักนั้นเป็นแบบไหน เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองในระยะยาว
เพราะประกันสุขภาพแม้จะดูเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว ในวันที่เรายังแข็งแรงดี แต่มันก็จะกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เมื่อยามที่เราเจ็บป่วยนั่นเอง..
#วางแผนการเงิน
References: