รวม 5 เทคนิคลับ ที่ช่วยให้เรา เสียภาษีน้อยลง อย่างถูกกฎหมาย

รวม 5 เทคนิคลับ ที่ช่วยให้เรา เสียภาษีน้อยลง อย่างถูกกฎหมาย

28 ต.ค. 2024
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนถึงเสียภาษีน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่มีรายได้มากกว่าเราด้วยซ้ำ ?
แน่นอนว่าความคิดแรกของหลายคน ก็น่าจะมองว่า เพราะมีเงินและสภาพคล่องมากมาย ไว้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มจำนวน 
แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้มีแค่นั้น เพราะคนที่เสียภาษีน้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้จักวางแผนภาษีด้วย
เราเองก็สามารถวางแผนเพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุดอย่างถูกกฎหมายได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการเข้าใจรายละเอียดของภาษีเงินได้และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างคุ้มค่า
เนื่องจากยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จัก นอกเหนือจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่หลายคนคุ้นเคย อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวมหรือทำประกันชีวิต
ถ้าหากอยากรู้ว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ก่อนที่เราจะเจาะลึกเรื่องเทคนิคการลดภาษี มาทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันก่อน
ภาษีเงินได้ที่เราต้องจ่ายนั้น คำนวณจาก
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
โดยที่เงินได้สุทธิ คือ ผลลัพธ์จากการนำเงินได้ทั้งหมดมาหักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ นั่นคือ
เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
จากสูตรนี้ เราสามารถเห็นแนวทางในการลดภาษีได้ 
3 วิธีหลัก นั่นคือ 
- การลดเงินได้พึงประเมิน 
- การเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักได้ 
- การใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อน
หลังจากที่เห็นภาพรวมหลัก ๆ ของการวางแผนภาษีแล้ว เรามาเจาะลึกเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราเสียภาษีอย่างประหยัดและถูกต้อง ทำให้เรามีเงินเหลือมากขึ้นกัน
เทคนิคที่ 1 การกระจายรายได้
ถ้าเราสามารถกระจายหน่วยภาษี หรือกระจายรายได้ จากเดิมที่เงินรวมเสียภาษีอยู่ในหน่วยภาษีเดียว เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หากเรากระจายรายได้ไปหลายหน่วยภาษี ฐานเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษีก็จะลดลง ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายก็จะน้อยลง
ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรส มีสิทธิในการยื่นแบบได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีส่งผลต่อจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายแตกต่างกัน
โดยคู่สมรสที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ควรแยกยื่นทั้งหมด เพราะแต่ละคนจะได้ใช้สิทธิลดหย่อนของตัวเองเต็มที่ 
ส่วนในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้สูงกว่าอีกฝ่ายมาก ก็ควรยื่นรวมกัน เพราะฝ่ายที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มที่ การรวมยื่นช่วยให้ใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มประสิทธิภาพ
เช่น ครอบครัวที่ภรรยาเป็นแม่บ้าน อาจจะให้สามีแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนรายได้อื่น ๆ ให้ภรรยายื่น จะช่วยกระจายรายได้และทำให้เสียภาษีน้อยลง 
คู่สมรสที่ทำธุรกิจ คือมีเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถแบ่งสัดส่วนรายได้ โดยให้ฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่าในสัดส่วนที่มากกว่า
จะเห็นว่า การเลือกวิธียื่นภาษีขึ้นอยู่กับโครงสร้างรายได้และค่าลดหย่อนของทั้งคู่ ควรลองเปรียบเทียบการคำนวณภาษีในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อหาวิธีที่ทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด
นอกจากนี้ การตั้งหน่วยภาษีใหม่ เช่น จัดตั้งคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบริษัท ก็เป็นอีกทางเลือก แต่ควรศึกษารายละเอียดและกฎระเบียบเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ
เทคนิคที่ 2 การแปลงประเภทเงินได้ เพื่อหักค่าใช้จ่าย
เงินได้แบ่งออกเป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทมีเพดานการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก
เงินได้ประเภทที่ 1 เงินเดือน
เงินได้ประเภทที่ 2 ฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า
หักแบบเหมาได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
และหากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำมาคิดรวมกัน 
หักได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 3 ค่าความนิยม ค่าลิขสิทธิ์
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล
หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ 
เงินได้ประเภทที่ 5 ค่าเช่า
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 10-30% แล้วแต่ประเภท
เงินได้ประเภทที่ 6 วิชาชีพอิสระ 
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 60% และ 30% แล้วแต่วิชาชีพ
เงินได้ประเภทที่ 7 ผู้รับเหมาที่เตรียมสัมภาระเอง
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 60%
เงินได้ประเภทที่ 8 ธุรกิจอื่น ๆ
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 40% และ 60% ตามประเภท
จะเห็นว่า เงินได้ประเภทที่ 1-4 จะเป็นเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยมาก ดังนั้นเราจึงควรย้ายเงินได้ไปเป็นประเภทอื่นที่หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เพื่อที่จะเสียภาษีให้น้อยลง
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
- การแปลงเงินได้จากการจ้างแรงงาน ประเภทที่ 1 ไปเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ประเภทที่ 6 
เช่น คุณหมอมีเงินเดือน, เงินจากการขึ้นเวร และค่า OT ที่คุณหมอซึ่งได้จากการทำงานประจำในโรงพยาบาล จะคิดเป็นเงินได้ประเภทที่ 1
ถ้าหากสามารถแปลงเงินได้จากเงินเดือน มาเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 ก็คือ วิชาชีพแพทย์ ทนายความ วิศวกรรม สถาปนิก นักบัญชี และประณีตศิลปกรรม 
ซึ่งสำหรับคุณหมอในที่นี้ ก็คือเงินที่ได้จากคลินิก หรือสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียง ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น และเสียภาษีน้อยลง 
- การแปลงเงินได้จากการรับจ้างทำงาน ประเภทที่ 2 ไปเป็นเงินได้จากธุรกิจอื่น ประเภทที่ 8
นั่นก็คือ ฟรีแลนซ์ที่เริ่มได้รับลูกค้ารายใหญ่อยู่เรื่อย ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการประกอบกิจการ ที่มีการจดทะเบียน VAT และมีสำนักงาน และการจ้างพนักงาน
เพื่อเปลี่ยนเงินได้จากประเภทที่ 2 มาเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบการประกอบธุรกิจ มีลูกจ้าง มีค่าใช้จ่ายเยอะ และมีสำนักงาน 
การแปลงประเภทเงินได้ช่วยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับลักษณะการทำงานจริงด้วย
เทคนิคที่ 3 การเลือกรวม หรือไม่รวมคำนวณภาษีปลายปี
Final Tax หรือภาษีสุดท้าย ซึ่งเป็นเงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ทำให้สามารถเลือกที่จะนำเงินได้เหล่านี้มารวม หรือไม่รวมคำนวณภาษีปลายปีก็ได้ 
โดยเงินได้ที่เป็น Final Tax มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ 
- ดอกเบี้ยต่าง ๆ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
- ผลต่างราคาตราสารหนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% 
- กำไรจากการขายตราสารหนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
- เงินปันผล อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%
- เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า
วิธีการเลือกทำได้โดยคำนวณเปรียบเทียบระหว่างการนำเงินได้มารวมคำนวณยื่นภาษีปลายปี กับการไม่นำมารวม แล้วเลือกวิธีที่ทำให้เสียภาษีน้อยกว่า
ยกตัวอย่างเช่น เงินปันผลจากหุ้นที่เราได้รับ จริง ๆ แล้วเงินก้อนนี้ถูกหักภาษีมา 2 รอบ จากภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบหนึ่ง และภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีกรอบหนึ่ง ทำให้ภาษีที่ถูกหักไปจากเงินปันผลทั้งหมด รวมแล้วประมาณ 28%
เพราะฉะนั้นถ้าอัตราภาษีเงินได้ของเราน้อยกว่า 28% เราก็ควรจะเอาเงินปันผล มารวมคำนวณภาษีปลายปี เพื่อเครดิตภาษีเงินปันผลคืน
แต่ถ้าอัตราภาษีเงินได้ของเรามากกว่า 28% เราก็ไม่ควรจะเอาเงินปันผล มารวมคำนวณภาษีปลายปี ปล่อยให้หัก ณ ที่จ่ายแล้วจบไปเลย ไม่งั้นจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น
เทคนิคที่ 4 การกำหนดเวลารับเงิน
การกำหนดเวลารับเงินเป็นอีกหนึ่งวิธีในการวางแผนภาษี โดยอาศัยหลักเกณฑ์เงินสด 
หลักการสำคัญของเกณฑ์เงินสดก็คือ รับเงินปีภาษีใด เป็นรายได้ของปีภาษีนั้น 
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
สมมติว่าเราเป็นฟรีแลนซ์ที่กำลังจะได้รับเงินค่าจ้างก้อนใหญ่มาก ๆ ในปีนี้ แต่ว่าทั้งปีเราก็มีรายได้สูงมากแล้ว ซึ่งแปลว่าเราจะต้องเสียภาษีมากขึ้นตามด้วย 
เราอาจจะพิจารณาเลื่อนการรับเงินบางส่วนไปปีถัดไป ด้วยการให้คนที่จ้างเรา จ่ายเงินเป็น 2 งวด โดยงวดหนึ่งจ่ายปีนี้ อีกงวดจ่ายปีหน้า เป็นต้น ก็จะทำให้ปีนี้เรามีเงินได้ที่จะนำไปคำนวณการเสียภาษีน้อยลง 
และในทางกลับกัน ถ้าหากเราคาดว่าปีหน้าจะมีรายได้สูงกว่าปีนี้ ก็อาจจะพิจารณาเร่งรับเงินในปีปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาจังหวะเวลาในการรับเงินให้สอดคล้องกับการใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ
เทคนิคที่ 5 การลดเงินได้สุทธิ
การลดเงินได้สุทธิก็คือ การซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันบำนาญ รวมไปถึงกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน Thai ESG, กองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF แบบที่หลาย ๆ คนกำลังทำกันอยู่นั่นเอง
ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดเงินได้สุทธิแล้ว ยังช่วยสร้างวินัยการออม การลงทุนระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการวางแผนการเงินได้ด้วย
จากเทคนิคทั้ง 5 ข้อ จะเห็นได้ว่าการวางแผนภาษีไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแค่เราต้องทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน
การนำเทคนิคเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่เพียงแค่ลดภาระภาษี แต่ยังเป็นการวางแผนจัดการการเงินได้ด้วย
เพราะยิ่งเราวางแผนภาษีได้ดีเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้เรามีเงินเหลือไว้เพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น นั่นเอง..
#วางแผนการเงิน
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.