ไทยเครดิต เป็นมากกว่าธนาคาร ให้บริการสินเชื่อสำหรับทุกคน

ไทยเครดิต เป็นมากกว่าธนาคาร ให้บริการสินเชื่อสำหรับทุกคน

25 ต.ค. 2024
ไทยเครดิต x MONEY LAB
ในช่วงที่รัฐบาลกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก สถาบันการเงินถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์
เพราะทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มไฟแนนซ์ ต่างก็ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนสินเชื่อต่ำจากฐานเงินฝาก ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์เน้นปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อย ทำให้ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า
แต่รู้หรือไม่ว่า มีบริษัทที่ผสมผสานจุดเด่นของทั้งธนาคารและไฟแนนซ์เข้าด้วยกัน
นั่นคือ CREDIT หรือ ธนาคารไทยเครดิต หุ้นธนาคารตัวล่าสุดที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
หากอยากรู้ว่า CREDIT มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. โมเดลธุรกิจที่ผสมผสานจุดเด่นของทั้งธนาคารและไฟแนนซ์
ธนาคารไทยเครดิต หรือ CREDIT มีโมเดลธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานข้อได้เปรียบของธนาคารพาณิชย์และธุรกิจไฟแนนซ์เข้าด้วยกัน
โดยแบ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนหลักอย่างชัดเจน
ส่วนแรก คือ สาขารับฝากเงิน
ตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ทำหน้าที่ระดมเงินฝากและให้บริการทางการเงินทั่วไป เช่นเดียวกับสาขาธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ
ช่วยให้ CREDIT สร้างฐานเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนที่สอง คือ สาขาปล่อยสินเชื่อ
ที่มีลักษณะเป็นตึกแถวคล้ายกับธุรกิจของไฟแนนซ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามตลาดและชุมชน เน้นให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตสำหรับคนค้าขาย
สาขาเหล่านี้ทำหน้าที่เฉพาะการปล่อยกู้และเก็บเงิน โดยไม่มีบริการรับฝากเงิน ทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัว ต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรง
กลุ่มลูกค้าหลักของ CREDIT คือผู้ประกอบการรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมักถูกมองข้ามจากธนาคารขนาดใหญ่
เนื่องจากมีความต้องการสินเชื่อวงเงินต่ำ มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง และมักขาดเอกสารทางการเงิน รวมถึงอาจไม่มีหลักประกันเพียงพอ สำหรับการขอสินเชื่อจากกลุ่มไฟแนนซ์
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ทำให้ CREDIT สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ ด้วยการเสนอสินเชื่อที่ถูกกฎหมายและดอกเบี้ยต่ำกว่า ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
โมเดลธุรกิจของ CREDIT จึงสามารถสร้างประโยชน์จากทั้งการมีต้นทุนเงินฝากต่ำ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการปล่อยกู้ทั่วไป
อีกทั้งยังมีโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการสินเชื่อ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอยู่เสมอ แต่ยังเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยาก
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ CREDIT ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” ช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้กว้างและรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
2. อัตราส่วนทางการเงินที่มีความโดดเด่น
ด้วยโมเดลธุรกิจที่ผสมผสาน ทำให้ CREDIT สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 3 พบว่า
- กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) เท่ากับ 1,161.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 41.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเติบโต 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
- อัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงที่สุด ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 157,604.5 ล้านบาท
อัตราส่วนนี้แสดงถึงการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ สะท้อนความต้องการสินเชื่อที่ยังคงสูงในกลุ่มลูกค้าของธนาคาร
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ 8.7%
อัตราส่วนนี้แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร สะท้อนประสิทธิภาพของโมเดลธุรกิจที่ผสมผสาน ต้นทุนเงินฝากต่ำของธนาคาร กับการปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงให้กลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นจุดแข็งเฉพาะตัวของ CREDIT
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio หรือ CIR) ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ 39.9%
อัตราส่วนนี้แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ สะท้อนความสามารถ การควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการสาขาอย่างมีประสิทธิภาพ
- อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity หรือ ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 21.85% สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ และเกือบใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์
อัตราส่วนนี้สะท้อนความสามารถในการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น แสดงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารเงินทุนที่ดี
- อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value หรือ P/BV) อยู่ที่ 1.13 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ต่ำกว่ากลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์
อัตราส่วนนี้สะท้อนถึงความถูกความแพงของหุ้นที่มีผลประกอบการขึ้นลงตามวัฏจักร
ถึงตรงนี้ ก็จะเห็นถึงความน่าสนใจของธนาคารไทยเครดิตผ่านโมเดลธุรกิจ รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว และหากลองพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องความถูกความแพง ของการลงทุนจากอัตราส่วน P/BV ก็จะพบว่า CREDIT ในฐานะธนาคารพาณิชย์ ราคาหุ้นที่ซื้อขายที่ P/BV ปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดูสมเหตุสมผล
ในทางกลับกัน หากมองว่า CREDIT มีลักษณะคล้ายกลุ่มไฟแนนซ์มากกว่า โดยมองผ่าน ROE ที่สะท้อนความสามารถในการทำกำไรสูง ราคาหุ้นที่ยังซื้อขายที่ P/BV ต่ำกว่ากลุ่มไฟแนนซ์ ก็อาจมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนก็เป็นได้..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
- คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาส 3 ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)
- https://www.thaicreditbank.com/th/investor/index
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.