เคลียร์ข้อสงสัย ทำงานแล้ว มีเงินเดือนเท่าไร ถึงจะเริ่มเสียภาษี
23 ก.ย. 2024
ตอนนี้เราเริ่มทำงาน มีเงินเดือนแล้ว รายได้ของเราในตอนนี้ จะต้องเสียภาษีหรือยังนะ ?
คำถามนี้ น่าจะเป็นคำถามยอดฮิต ที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน และมีเงินเดือนกัน
แต่คำตอบของคำถามนี้ แท้จริงง่ายแค่นิดเดียว ถ้าเราเข้าใจแล้ว จะช่วยให้เราวางแผนการเงินส่วนตัว และวางแผนภาษีเป็น ได้ด้วยตัวเองตลอดชีวิตเลย
หากสงสัยว่า ตกลงแล้ว ต้องมีเงินเดือนเท่าไร ถึงจะเริ่มเสียภาษีกันแน่ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
วิธีในการหาว่า เราจะต้องมีเงินเดือนเท่าไร ถึงจะเริ่มเสียภาษี เราจะต้องรู้ว่ารายได้รวมขั้นต่ำที่จะต้องเสียภาษี เป็นเท่าไรเสียก่อน
โดยจากสูตรการคำนวณหาเงินได้สุทธิจะได้ว่า
เงินได้สุทธิ = รายได้รวม - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อนส่วนตัว - ค่าลดหย่อนอื่น ๆ เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการหารายได้รวม ที่จะต้องทำให้เราเสียภาษี ในกรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือน จะต้องมีการปรับสูตรให้เป็นแบบนี้
รายได้รวม = เงินได้สุทธิ + ค่าใช้จ่าย + ค่าลดหย่อนส่วนตัว + เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
โดยก่อนที่จะคำนวณ เราจะต้องรู้ว่า เงินได้สุทธิ, ค่าใช้จ่าย, ค่าลดหย่อนส่วนตัว และเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเท่าไร
- เงินได้สุทธิ เท่ากับ 150,000 บาท
เงินได้สุทธิ ก็คือ รายได้ทั้งหมดในปีนั้น ลบด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ตามสิทธิที่ทางภาครัฐมอบให้เรา
โดยเงินได้สุทธิ จะถูกนำไปคำนวณ เพื่อหาว่า เราจะต้องเสียภาษีเท่าไร แต่ถ้าเงินได้สุทธิของเรา อยู่ในช่วงระหว่าง 1 บาท ถึง 150,000 บาท เราจะยังไม่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น เราจึงกำหนดให้เงินได้สุทธิ อยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินได้สุทธิสูงสุด โดยที่เรายังไม่ต้องเสียภาษี
- ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
ตามกฎหมายแล้ว ทางภาครัฐจะอนุญาตให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เราจึงกำหนดค่าใช้จ่ายไว้ที่ 100,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงสุด ที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
เป็นสิทธิที่ทางภาครัฐมอบให้กับแต่ละคน สามารถนำไปลดหย่อนภาษี ได้คนละ 60,000 บาท
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม คือเงินที่เราถูกหัก 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท อยู่ในทุก ๆ เดือน
เพื่อนำไปสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับคุ้มครองการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต, ประกันการว่างงาน และเก็บออมไว้จ่ายคืนเมื่อชราภาพ
โดยเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ก็เป็นค่าลดหย่อนในด้านการออมและการลงทุน ที่จะถูกนำมาคิดเป็นค่าลดหย่อน เมื่อตอนคำนวณเงินได้สุทธิ เช่นเดียวกัน
ซึ่งเราก็จะคิดในกรณีที่ว่า ค่าลดหย่อนในส่วนของเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สูงที่สุดแล้ว นั่นก็คือ 9,000 บาท
ดังนั้น เมื่อเรานำตัวเลขเหล่านี้มาคำนวณรวมกันแล้ว เราจะได้ว่า รายได้รวมที่จะทำให้เราต้องเสียภาษีเงินได้ก็คือ
รายได้รวม = 150,000 + 100,000 + 60,000 + 9,000 = 319,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็นตกเดือนละ 26,583.33 บาทต่อเดือน
หมายความว่า ถ้าเรามีเงินเดือน มากกว่าเดือนละ 26,583.33 บาทขึ้นไป เราถึงจะเริ่มเสียภาษี นั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า การดูแค่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะในการคำนวณภาษี เราจะใช้จากรายได้ทั้งปีมาคำนวณ
ทำให้บางที ถึงแม้เราจะได้เงินเดือนน้อยกว่าเดือนละ 26,583.33 บาท แต่ว่าที่ทำงานของเรา จ่ายโบนัสให้เยอะมาก จนทำให้รายได้รวมของเรามากกว่า 319,000 บาทต่อปี
ถ้าเป็นแบบนี้ รายได้ของเราก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วเหมือนกัน
สรุปแล้ว สำหรับคำตอบว่า “ต้องมีเงินเดือนเท่าไร ถึงจะเริ่มเสียภาษี”
ก็ขอสรุปแบบง่าย ๆ ออกเป็น 2 กรณีว่า
- ถ้าเราทำงานแล้วได้แต่เงินเดือน โดยไม่มีโบนัส และไม่มีรายได้ทางอื่นเลย เราจะต้องมีเงินเดือนมากกว่า เดือนละ 26,583.33 บาทต่อเดือน ถึงจะเริ่มเสียภาษี
- แต่ถ้าเกิดเรามีรายได้หลายทาง หรือทำงานรับเงินเดือนอย่างเดียว แต่บริษัทจ่ายโบนัสให้เยอะมาก ๆ จนรายได้รวมมากกว่า 319,000 บาทต่อปี
เป็นแบบนี้ต่อให้เงินเดือนน้อยกว่าเดือนละ 26,583.33 บาท ก็ต้องเริ่มเสียภาษีเช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อพวกเรา ให้เข้าใจเรื่องภาษีกันดีขึ้น ไม่มากก็น้อย
โดยสำหรับคนที่รายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีแล้ว ก็อย่าลืมศึกษาวิธีการลดหย่อนภาษีเอาไว้ด้วย
เพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการลดหย่อน เช่น การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี หรือการทำประกัน ก็จะช่วยประหยัดภาษีให้เราได้มากเลยในอนาคต
แต่สำหรับคนที่รายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไป เพราะสักวันรายได้ของเราก็ต้องเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เราก็ควรรีบเรียนรู้ไว้บ้าง ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่ในวันนั้น เราจะไม่ต้องวิ่งวุ่นหาวิธีลดภาษีให้ตัวเอง..
#วางแผนการเงิน
#TaxFest2024
#ภาษีนี้มีแต่ได้