บริหารเงินอย่างไร ไม่ให้ครอบครัว ต้องลำบากใจแบบใน เรื่องเธอ ฟอร์ แคช
10 ก.ย. 2024
เมื่อผู้เป็นพ่อป่วยหนักจนจ่ายหนี้ไม่ไหว สุดท้ายลูกสาวอย่างอิ๋ม จึงต้องรับภาระในการใช้หนี้แทนผู้เป็นพ่อ รวมถึงยอมออกเดตกับคนทวงหนี้อย่างโบ้ เพื่อไม่ให้เขาเก็บดอกเบี้ย
นี่คือเรื่องย่อของ “เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน” ภาพยนตร์ไทยที่กำลังได้รับความนิยมใน Netflix ประเทศไทย
แต่สถานการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงบนจอภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นความจริงอันโหดร้ายที่หลายครอบครัวในสังคมไทยต้องเผชิญอีกด้วย
แล้วเราจะต้องบริหารเงินอย่างไร เพื่อไม่ให้คนในครอบครัว ต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์นี้บ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ เกี่ยวกับการจัดการปัญหาหนี้สินและการวางแผนการเงิน มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง
1. อย่าเป็นหนี้นอกระบบเด็ดขาด
ในภาพยนตร์เราจะเห็นว่า พ่อของอิ๋ม หรือลุงอ๊อด มีหนี้นอกระบบจำนวน 45,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 250 บาท แต่หากต้องการปิดหนี้ต้องจ่ายทีเดียวทั้งก้อน
ลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวัน คืนเงินต้นทั้งจำนวน
แบบนี้เรียกว่า “ดอกลอย” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีคิดดอกเบี้ยนอกระบบที่โหดร้ายมาก
เพราะถ้าเราลองคำนวณให้เป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีแบบง่าย ๆ ด้วยการเอาดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี หารด้วยเงินต้นที่ไปกู้มา ก็จะได้ว่า
อัตราดอกเบี้ย = (250 x 365) / 45,000 = 203% ต่อปี
ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่มากมายขนาดนี้ ต่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินไปเท่าไร ก็คงไม่เข้าเงินต้นสักบาทเดียว
นอกจากนี้ความน่ากลัวของหนี้นอกระบบไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่วเท่านั้น ยังมีการถูกข่มขู่หรือทวงหนี้แบบผิดกฎหมายอีกด้วย
ดังนั้น หากเรามีหนี้นอกระบบให้หาเงินก้อนมาปิดให้เร็วที่สุด อาจจะนำมาจากโบนัส รายได้พิเศษ
หรือการเลือกกู้หนี้ในระบบมาปิดหนี้นอกระบบก็เป็นทางออกที่ดี เพราะเสียอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และมีความปลอดภัยกว่าด้วย
และสำหรับใครที่ไม่มีหนี้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ควรพิจารณาเลือกแหล่งเงินกู้ในระบบ และหลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกระบบโดยเด็ดขาด
2. วางแผนจัดการมรดกให้ดี
ในภาพยนตร์เราจะเห็น ลูกสาวที่เกือบต้องเผชิญกับภาระหนี้ที่พ่อทิ้งไว้หลังเสียชีวิต
ทำให้หลายคนน่าจะมีคำถามว่า เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตและมีหนี้สิน ลูกจะต้องรับผิดชอบหนี้นั้นหรือไม่ ?
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว มรดก หมายถึง ทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ
นั่นหมายความว่า ลูกซึ่งเป็นทายาทต้องรับผิดชอบหนี้นั้น แต่จะรับผิดในหนี้ไม่เกินมรดกที่ได้รับเท่านั้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
พ่อเสียชีวิตมีหนี้มูลค่า 45,000 บาท แต่ไม่มีมรดกเลย ลูกซึ่งเป็นทายาทไม่ต้องรับผิดชอบ
แต่หากพ่อเสียชีวิตมีหนี้มูลค่า 45,000 บาท และมีมรดก 20,000 บาท ทายาทจะต้องชดใช้แค่ 20,000 บาท ที่เหลืออีก 25,000 บาท ไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว
และที่สำคัญเจ้าหนี้ต้องเรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้แทนภายใน 1 ปี หากไม่ฟ้องร้องภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าคดีขาดอายุความ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
นอกจากนี้สิ่งที่เราควรรู้อีกเรื่อง คือ มรดกหนี้บ้าน
โดยเมื่อตอนกู้ซื้อบ้าน ผู้กู้ควรพิจารณาทำประกันสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย หรือประกัน MRTA
เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้กู้เสียชีวิตไปก่อนและยังผ่อนบ้านไม่หมด บริษัทประกันจะได้เป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ที่เหลือแทน
ทำให้ทายาทไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ และสามารถรับมรดกเป็นบ้านที่ปลอดภาระได้
3. สร้างช่องทางปลดหนี้ให้คนข้างหลัง
ในภาพยนตร์ พ่อได้ส่งเบี้ยทำฌาปนกิจไว้ ทำให้สามารถปลดหนี้ของตัวเองได้ โดยไม่ต้องส่งหนี้เป็นภาระให้ลูก
โดยการฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นระบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิก โดยจะจ่ายเงินสงเคราะห์เข้ากองทุน และเมื่อสมาชิกเสียชีวิต ครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือ ทำให้สามารถนำไปใช้จัดงานศพ หรือชำระหนี้ได้
ซึ่งการไม่ส่งต่อภาระหนี้ให้ครอบครัว ถือเป็นตัวอย่างของการวางแผนการเงินที่ดีและมีความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถทำได้ นั่นคือ การทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ซึ่งเป็นแบบประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก และเป็นแบบประกันที่จ่ายเบี้ยไม่แพง
การทำฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพแบบนี้ ก็จะทำให้เราสบายใจได้ว่า เมื่อเราจากไป หนี้ที่มีหรือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ จะไม่กลายเป็นภาระของคนที่เรารักอีกต่อไป
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องเธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน ก็เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคมไทย ที่แสดงให้เห็นว่าหลายคนยังต้องดิ้นรนในวังวนหนี้นอกระบบ
และยังย้ำเตือนใจเราด้วยว่า บางทีสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ อาจจะไม่ถึงขั้นที่ต้องทิ้งมรดกก้อนโตหลายล้านบาทไว้ให้
แต่ขอแค่บริหารจัดการเงินได้เป็นอย่างดี และไม่มีภาระหนี้ไว้ให้คนข้างหลังชดใช้
ก็เป็นการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่มากพอแล้ว..
#วางแผนการเงิน
#บริหารหนี้
#เธอฟอร์แคช
References