วางแผนมรดกอย่างไร ไม่ให้คนข้างหลัง ต้องวุ่นวายแบบใน เรื่องวิมานหนาม
5 ก.ย. 2024
เสกตายกะทันหัน โดยยังไม่ทันได้ทำพินัยกรรม สิ่งนี้เองคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราววุ่นวายทั้งหมด ในภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม
เพราะสวนทุเรียนกลายเป็นมรดกของแม่เสกแทน ส่วนทองคำที่ลงทุนไปกับสวนทุเรียนของเสก กลับไม่ได้อะไรเลยแม้แต่น้อยตามกฎหมาย
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า จะมีการสปอยล์เนื้อหาในภาพยนตร์นิดหน่อย เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ถ้าใครยังไม่ได้ดู อาจจะแชร์เก็บไว้อ่าน หลังกลับมาจากดูหนังแล้วก็ได้
แต่ถ้าพร้อมอ่านแล้ว ไปเริ่มกันเลย
ตอนแรกเสกกับทองคำ ทำสวนทุเรียนด้วยกัน แต่เสกกลายเป็นเจ้าของสวนทุเรียนคนเดียว 100%
ตามชื่อของเขาในโฉนดที่ดิน
ถ้าเสกทำพินัยกรรมไว้ตั้งแต่ต้น หากเสกตาย ทองคำก็จะได้ครอบครองสวนทุเรียนทันที
แต่ตามเนื้อเรื่อง พอเสกตายอย่างกะทันหัน โดยไม่มีพินัยกรรมระบุไว้ และจดทะเบียนสมรสกับทองคำไม่ได้
สวนทุเรียนแห่งนี้ ก็ตกเป็นของทายาทโดยธรรมแทน
แล้วทายาทโดยธรรม คืออะไร ?
ทายาทโดยธรรม คือ คนที่มีความสัมพันธ์กับผู้ตาย ไล่เรียงจากสนิทมากไปสนิทน้อย ซึ่งแบ่งได้เป็น
1. ผู้สืบสันดาน คือ ลูกผู้ตาย
2. พ่อแม่ของผู้ตาย
3. พี่น้องพ่อแม่เดียวกันกับผู้ตาย
4. พี่น้องพ่อหรือแม่เดียวกันกับผู้ตาย
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
ในกรณีนี้ เสกเหลือแค่แม่คนเดียว ไม่มีลูก ไม่มีญาติคนอื่น
ดังนั้นสวนทุเรียนจึงตกเป็นของทายาทลำดับที่ 2
นั่นคือ แม่ของเสก
ต่อมาแม่ของเสก เขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตัวเอง พร้อมลงวันที่กำกับยกให้ลูกเลี้ยง กลายเป็นว่าลูกเลี้ยงได้มรดกสวนทุเรียนตรงนี้ไป
บางคนน่าจะสงสัย ว่าการเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือ ทำได้จริงหรือ แต่อันที่จริงแล้ว การเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับและลงวันที่ เท่านี้ก็ถือว่าพินัยกรรมนี้มีผลตามกฎหมาย แม้ไม่ได้มีพยานก็ตาม
แต่ถ้าให้คนอื่นเขียนหรือพิมพ์ แม่ของเสกต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน ถ้าไม่มีก็จะถือว่าพินัยกรรมฉบับนี้
ไม่มีผลตามกฎหมาย
และหลายคนอาจจะไม่ทราบว่า พินัยกรรมสามารถทำด้วยวาจาก็ยังได้ ซึ่งอาจเป็นการพูดสั่งเสียก่อนตาย แต่ต้องมีพยานอยู่ด้วยอย่างน้อย 2 คน และต้องรีบไปแจ้งสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอให้เร็วที่สุด
จากนั้นพยานก็แจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ด้วยวาจา พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่ทำพินัยกรรม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ถ้าหากผู้พูดเกิดรอดชีวิตขึ้นมา พินัยกรรมนี้ จะมีอายุ 1 เดือนนับจากวันที่พูดไว้
แล้วถ้าเสกจดทะเบียนสมรสกับทองคำได้ สวนทุเรียนจะตกเป็นของใครได้บ้าง ?
ปัจจุบันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการโหวตในสภาเรียบร้อย ซึ่งมีการปรับกฎหมายให้คู่สมรส ไม่ว่าเป็นเพศใดก็ตาม สามารถสมรสกันได้
ซึ่งก็ต้องหมายเหตุว่า ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะต้องรอลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนี้ ก็ทำให้คู่สมรสไม่ว่าเพศไหน
มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งการจัดการสินสมรส การตัดสินใจทางการแพทย์ หรืออะไรต่าง ๆ ร่วมกันได้
ดังนั้น แม้ในโลกของภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ทองคำกับเสกไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้
แต่ถ้าสมมติว่าทั้งคู่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ แม้เสกตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทองคำก็จะกลายเป็นหนึ่งในเจ้าของสวนทุเรียนทันที
โดยสวนทุเรียนครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของทองคำ เพราะถือว่าเป็นสินสมรส ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง ก็จะถูกแบ่งให้กับทายาทโดยธรรม
อย่างในกรณีนี้ ตอนนี้มีสวนทุเรียนเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง หลังแบ่งจากคู่สมรสแล้ว ทายาทที่มีสิทธิในมรดกที่เหลือ คือ ลูก พ่อและแม่ของผู้ตาย รวมถึงคู่สมรสด้วย
แต่ในเรื่องนี้ เสกไม่มีลูก มีแค่แม่คนเดียว ทำให้สวนทุเรียนครึ่งหนึ่ง จะถูกแบ่งระหว่างทองคำ ที่เป็นคู่สมรส และแม่ของเสกแทน
สุดท้าย สวนทุเรียนแห่งนี้ ก็จะตกเป็นของ
- ทองคำ 75%
โดย 50% แรกได้จากการแบ่งสินสมรส ส่วนอีก 25% ได้จากมรดกที่แบ่งกันกับแม่ของเสก
- แม่ของเสก 25%
ในส่วนนี้แม่ของเสก ก็สามารถยกมรดกสวนทุเรียนที่ได้มา
ให้กับลูกเลี้ยงของตัวเองต่อได้
สรุปแล้ว ถ้าจะให้ทองคำมีสิทธิเป็นเจ้าของสวนทุเรียน สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็คงมีแค่การทำพินัยกรรมไว้ก่อนเท่านั้น
แต่ในเมื่อเสกไม่ได้ทำอะไรไว้ก่อนจากไปเลย สวนทุเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ความวุ่นวาย ที่เราได้เห็นในภาพยนตร์
ทำให้แม้เสกจะไปสบาย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการทิ้งภาระ ให้กับคนข้างหลังอย่างทองคำแทน..
References
-ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์