สรุปเทรนด์ใหม่ตอนนี้ เกษียณตอนอายุ 60 ปี อาจกำลังกลายเป็นอดีต

สรุปเทรนด์ใหม่ตอนนี้ เกษียณตอนอายุ 60 ปี อาจกำลังกลายเป็นอดีต

17 ก.ค. 2024
ถ้าบอกว่าในอนาคต การที่เราต้องทำงาน แม้จะอายุเกิน 60 ปี อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร ?
ที่ต้องทำงานมาเกือบครึ่งชีวิต จนร่างกายโรยราแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้หยุดพักอยู่ดี 
นั่นก็เป็นเพราะว่าโลกในปัจจุบันนี้ มีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไป จนอาจทำให้การเกษียณตอนอายุ 60 ปี เป็นเรื่องในอดีตเท่านั้น 
แล้วถ้าสงสัย ว่ามีอะไรบ้างที่อาจทำให้ต่อไป คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้เกษียณตอนอายุ 60 ปี ?  
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
CEO ของ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนชื่อดังระดับโลก อย่างคุณ Larry Fink ได้พูดไว้ว่า 
“มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนส่วนใหญ่จะเกษียณในวัย 60 ปี หรือแม้กระทั่ง 65 ปี เมื่ออายุขัยเฉลี่ยของผู้คนสูง และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น”
คำพูดนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” หรือ National Retirement Readiness Index ในปี 2022 
ได้ระบุว่า คนไทยมีความพร้อมหลังเกษียณต่ำกว่า 40% พูดง่าย ๆ คือ ใน 100 คน มีไม่ถึง 40 คน ที่มีความพร้อมที่จะเกษียณอายุ 
ซึ่งสาเหตุเบื้องหลังของเทรนด์การเกษียณอายุที่ช้าลง หลัก ๆ แล้วก็จะมาจาก 2 เรื่องนี้ 
1. อายุขัยเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่นั้นปรับเพิ่มขึ้น
แม้การมีชีวิตยืนยาว อาจจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนใฝ่หา แต่มันก็คงจะเป็นทุกขลาภแทน ถ้าหากเราอายุยืน แต่ไม่มีเงินเลี้ยงตัวเอง
สิ่งนี้ในวงการการเงิน และประกันภัย เรียกว่า Longevity Risk หรือความเสี่ยงจากการมีอายุยืนยาว  
โดยตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2019 อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 67 ปี เป็น 73 ปี แม้แต่ประเทศไทยของเราเอง อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยนั้นเพิ่มจาก 71 ปี มาอยู่ที่ 78 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว
เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น บวกกับคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น
จริงอยู่ที่ว่าชีวิตหลังเกษียณ หลายคนจะยังมีรายได้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินชดเชยการเลิกจ้าง, เงินบำนาญประกันสังคม, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, เงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ เป็นต้น
แต่นั่นก็อาจไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่ตรงหน้า และการใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับการพักผ่อนอย่างสุขสบาย 
2. ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น
เราไม่ได้ซื้อก๋วยเตี๋ยวกินในราคาเดียวกันกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วฉันใด อีก 10 ปีหลังเกษียณ ราคาข้าวของต่าง ๆ ก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปฉันนั้น
นั่นก็เป็นเพราะศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้ความมั่งคั่งในอนาคตลดลง อย่างเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อนั้นจะค่อย ๆ กัดกินมูลค่าเงินของเราให้ถดถอยลงทุกวัน
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาสินค้าและการบริการต่าง ๆ นั้นแพงขึ้น 
ไม่ว่าจะเป็น ราคาอาหาร, ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล, ค่าขนส่งสาธารณะ, ค่าเดินทาง, ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น
ซึ่งแม้ว่าปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกวัยต้องเผชิญ แต่สำหรับคนวัยเกษียณจะได้รับผลกระทบกว่ามาก เพราะไม่สามารถใช้แรงหาเงินเยอะ ๆ เพื่อมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ เหมือนตอนที่ยังมีแรง   
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยจึงยังจำเป็นต้องทำงาน แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงเวลาเกษียณอายุแล้วก็ตาม 
สังเกตได้จากหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างเช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เราก็มักจะเห็นผู้สูงอายุออกมาทำงานกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ออกกฎหมายสนับสนุนให้เอกชน จ้างงานพนักงานจนถึงอายุ 70 ปี เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา 
หรือสิงคโปร์เอง ก็มีแผนที่จะยืดอายุเกษียณจาก 64 ปี เป็น 69 ปี ในปี 2026 
จะเห็นได้ว่าการเกษียณอายุนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวที่เราควรจะมองข้าม เพียงแค่ว่าในวันนี้ เรายังเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าจะเกษียณ 
ดังนั้น ถ้าวันนี้เรายังมีรายได้จากการทำงานอยู่ เราจำเป็นต้องคิดเรื่องวางแผนทางการเงินอย่างจริงจังได้แล้ว  
เพราะการที่เราจะได้พักผ่อนจากการทำงาน อย่างสุขสบายในบั้นปลายได้หรือไม่ สิ่งที่จะตอบได้ก็คือ การวางแผนทางการเงินของเราในวันนี้..
#วางแผนการเงิน
#วางแผนเกษียณ
#เกษียณ60
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.