สรุปบทเรียนจาก ภาพยนตร์ Inside Out ในมุมนักลงทุน

สรุปบทเรียนจาก ภาพยนตร์ Inside Out ในมุมนักลงทุน

5 ก.ค. 2024
Inside Out คือภาพยนตร์ของ Pixar ที่เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า ไรลีย์ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ในร่างกายต่าง ๆ มากมาย 
ทั้งสนุก เศร้า กังวล โมโห รังเกียจ ว้าวุ่น อิจฉา เขินอาย หวาดกลัว ขยะแขยง ที่แสดงออกมา ตามเหตุการณ์ที่แตกต่างกันออกไป 
ซึ่งเรื่องนี้ ก็สะท้อนภาพการลงทุนได้เป็นอย่างดี
เพราะตลาดหุ้นก็มีวันที่ดีและแย่ ปะปนกันไป 
จนเราต้องรับมือกับอารมณ์ที่ผันผวนตามไปด้วย
แล้วบทเรียนจาก Inside Out ใช้กับการลงทุนอย่างไรได้บ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
แน่นอนว่า การที่เราอยู่ในตลาด ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยง ความผันผวนของตลาดหุ้นได้ ทำให้การจัดการกับอารมณ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เพราะตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุน อารมณ์ต่าง ๆ ก็จะแวะเวียนเข้ามาอยู่ในหัวเรา ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป 
- เราอาจจะ “ลั้ลลา (Joy)” เมื่อหุ้นของตัวเองบวกหลายเปอร์เซ็นต์ และเข้าซื้อเพิ่มอีก เพราะอยากจะได้มากกว่านี้ 
- เราอาจจะ “อิจฉา (Envy)” ที่ได้เห็นเพื่อนนักลงทุนคนอื่น ๆ มีผลตอบแทนแซงหน้าเราไปไกล หรือได้เข้าซื้อหุ้นที่เราตกรถ 
- เราอาจจะ “ฉุนเฉียว (Anger)” จนโทษนั่นนี่มั่วไปหมด ในวันที่ตลาดหุ้นตก พร้อมกับดิ้นรนหาวิธีต่าง ๆ เพื่อเอาเงินกลับคืนมา   
- เราอาจจะ “เศร้าซึม (Sadness)” ในวันที่ตลาดตกลงมา แล้วไม่ไปไหน จนต้องลบแอป Streaming ทิ้งไป เพื่อฝังความทรงจำอันเลวร้ายของตัวเอง  
- เราอาจจะ “กลั๊วกลัว (Fear)” จนไม่กล้าลงทุนอีกเลย หลังจากเผชิญการขาดทุนใหญ่มานาน แม้ตลาดหุ้นในตอนนี้ จะเริ่มกลับมาคึกคักแล้วก็ตาม 
จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกในหัวเรา ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนได้ มากกว่าที่เราคิด 
แต่ก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน ที่เราจะจัดการอารมณ์ของตัวเอง ในการลงทุน  
ซึ่งเรื่องนี้คุณ Warren Buffett ตำนานนักลงทุนของโลก ก็ได้ให้แนวคิดการจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในเวลาลงทุนเอาไว้ ที่เรียกกันว่า Inner Scorecard 
Inner Scorecard เป็นหลักคิดที่ไม่ซับซ้อน เพราะมันคือการตั้งเป้าหมายกับตัวเอง แล้วไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเองได้ตั้งไว้ โดยไม่เปรียบเทียบกับใคร 
รวมไปถึง การเลือกสไตล์การลงทุนที่ใช่กับตัวเอง ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจกับสินทรัพย์เหล่านั้นจริง ๆ 
ตัวอย่างเช่น การที่เราตั้งเป้าหมายว่า จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เราก็ออกแบบพอร์ตการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่หวังไว้ 
ไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัว กองทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารทุน ที่เป็นสินทรัพย์ที่เราสนใจและเข้าใจมันจริง ๆ 
จากนั้นเมื่อครบปี เราก็มาดูว่า ผลตอบแทนที่ได้มา ตรงตามเป้าหมายของเราหรือไม่ และถ้าไม่ ก็หาวิธีปรับพอร์ตการลงทุนของตัวเองต่อไป 
ซึ่งแนวคิดนี้ ตรงข้ามกับ Outer Scorecard ที่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทั้งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไปจนถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต้องมากกว่าคนอื่น
ทั้งที่จริงแล้ว ผลตอบแทนตามเป้าหมายของเราก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจแล้ว และหากพลาดเป้าที่วางไว้ นั่นก็เป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรต่อไปด้วยตัวเองแทน 
และแม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน เราอาจจะว้าวุ่นใจอยู่บ้าง แต่หากเรามีเป้าหมายและเข้าใจการลงทุนของตัวเองจริง ๆ ก็จะทำให้อารมณ์ตอนนั้นนิ่งขึ้นมาได้บ้าง 
ดีกว่ารู้สึกเสียใจ เศร้าใจ และอิจฉา ที่ผลตอบแทนของเราน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งแบบนี้อาจทำให้เราว้าวุ่นใจมากกว่าเดิมขึ้นไปอีกแทน 
สุดท้ายแล้ว แนวคิด Inner Scorecard ก็เป็นแนวทางการจัดการอารมณ์ในการลงทุนที่ดี ซึ่งต้องยอมรับว่า เราทุกคนก็ต่างมีอารมณ์ที่ผันผวนตลอดเช่นกัน 
แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร เข้าใจว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร และมีเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งใจไว้ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร 
เหมือนกับไรลีย์ใน Inside Out ที่มีอารมณ์ในแต่ละวันแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายไรลีย์ ก็รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มีนิสัยแบบไหน และชอบทำอะไร 
เราทุกคนเอง ก็รู้เหมือนกันว่า ตัวเองมีเป้าหมายการลงทุน และชอบสไตล์การลงทุนแบบไหน ที่ทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#InsideOut
References
-หนังสือ The Education of a Value Investor: My Transformative Quest for Wealth, Wisdom, and Enlightenment (2014) โดย Guy Spier
-หนังสือ Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets (2001) โดย Nassim Nicholas Taleb
-หนังสือ Principles: Life and Work (2017) โดย Ray Dalio
-หนังสือ Meditations โดย Marcus Aurelius
-หนังสือ The Daily Stoic: 366 Meditations on Wisdom, Perseverance, and the Art of Living (2016) โดย Ryan Holiday และ Stephen Hanselman
-หนังสือ Mastery (2012) โดย Robert Greene
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.