Theodore Johnson จากคนเก็บเงินไม่อยู่ สู่มหาเศรษฐี 5,900 ล้านบาท

Theodore Johnson จากคนเก็บเงินไม่อยู่ สู่มหาเศรษฐี 5,900 ล้านบาท

2 ก.ค. 2024
การออมเงิน คือก้าวแรกของมนุษย์เงินเดือน ที่อยากจะมีอิสรภาพทางการเงินผ่านการลงทุน
แต่การออมเงิน กลับเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน
ซึ่งปัญหาการเก็บเงินไม่อยู่ ก็เคยเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้คุณ Theodore Johnson อดีตพนักงานบริษัทขนส่งพัสดุ UPS ในสหรัฐอเมริกาด้วยเหมือนกัน
แต่คุณ Theodore ก็หาวิธีเก็บเงินได้ จนสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองมากถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1991 เมื่ออายุครบ 90 ปี (คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน หลังปรับเงินเฟ้ออยู่ที่ 5,900 ล้านบาท)
แล้วถ้าอยากรู้ว่าคุณ Theodore มีวิธีการออมเงิน และลงทุนอย่างไร ถึงสร้างความมั่งคั่งได้มากขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คุณ Theodore Johnson เกิดในปี 1900 ในครอบครัวชนชั้นกลาง
เมื่อเขาเรียนจบในปี 1924 เขาก็เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทขนส่งพัสดุเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
บริษัทแห่งนี้มีชื่อว่า United Parcel Service หรือ UPS ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากถึง 4.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
คุณ Theodore ใช้ชีวิตอย่างพนักงานกินเงินเดือนทั่ว ๆ ไปในยุคนั้น ที่หาเงินมาได้เท่าไร ก็ใช้เงินนั้นจนหมด
จนกระทั่งวันหนึ่งคุณ Theodore ไปปรึกษาเพื่อนร่วมงานว่า จะทำอย่างไรถึงสามารถเริ่มออมเงินได้
เพื่อนก็แนะนำให้เขาแบ่งเงินจากรายได้ที่ได้ในแต่ละเดือน ประมาณ 20% เป็นเงินออมก่อนใช้จ่าย และให้คิดว่านี่เป็นเงินภาษีที่ต้องจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกอยากใช้จ่ายเงินก้อนนี้
คุณ Theodore คล้อยตามในสิ่งที่เพื่อนของเขาพูด และเริ่มขอร้องให้หัวหน้าของเขา หักเงินเดือนของเขาประมาณ 20% ในทุก ๆ เดือน แล้วนำเงินก้อนนั้นไปซื้อหุ้นของบริษัท UPS ที่เขาทำงานอยู่ 
เขาทำแบบนี้อยู่ 28 ปี จนกระทั่งในปี 1952 ซึ่งเป็นปีที่คุณ Theodore เกษียณในวัย 52 ปี มูลค่าเงินลงทุนที่เขาสะสมมาอยู่ที่ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน หลังปรับเงินเฟ้ออยู่ที่ 305 ล้านบาท)
ที่น่าสนใจคือ ตลอดชีวิตการทำงานของเขา เขาไม่เคยได้รับเงินเดือนเกิน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลย
นั่นแปลว่า ถ้าเขาออมเงินเดือนละ 20% ของเงินเดือน แสดงว่าเขาจะสามารถออมเงินในแต่ละปีได้สูงสุดอยู่ที่ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐ
เท่ากับว่าหากเขาไม่ได้นำเงินก้อนนี้ไปลงทุน แต่เก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารเฉย ๆ เงินก้อนนี้ก็น่าจะมีมูลค่าไม่เกิน 78,400 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ ความมั่งคั่งกว่า 90% ของเขาหลังเกษียณมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน
แม้ว่าเขาจะเกษียณจากการทำงานแล้ว แต่เขาก็ยังคงไม่ขายหุ้น UPS ที่เขาสะสมออกมา แล้วปล่อยให้มันทำผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อย ๆ อีก 38 ปี หลังเขาเกษียณ
โดยในปี 1991 เมื่อเขาอายุได้ 90 ปี เขาได้ส่งต่อมรดกของเขากว่า 50% เป็นทุนการศึกษาให้เด็กที่ขาดแคลนเงินทุน ส่วนที่เหลือเป็นมรดกสืบทอดให้ครอบครัวของเขา
แม้ในปี 1991 บริษัท UPS จะยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น แต่ก็มีการประเมินกันว่ามูลค่าหุ้นที่คุณ Theodore ถืออยู่ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน หลังปรับเงินเฟ้ออยู่ที่ 5,900 ล้านบาทเลยทีเดียว
สรุปก็คือ ความมั่งคั่งของเขากว่า 90% เกิดขึ้นหลังเกษียณไปแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของขนาดธุรกิจ
แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า เรื่องราวของคุณ Theodore เป็นการลงทุนแบบใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
นั่นคือ การนำเงินออมทั้งหมดไปซื้อหุ้นเพียงแค่บริษัทเดียว ซึ่งเราอาจไม่ได้โชคดีแบบคุณ Theodore เราจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นหลาย ๆ ตัว
ซึ่งในไทยเอง ก็มีเครื่องมือที่ช่วยหักเงินออกจากเงินเดือนของเราทุกเดือน ก่อนที่เราจะนำมาใช้จ่ายได้ นั่นก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund 
เงินที่เราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ข้อดีของการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ นอกจากจะหักเงินเดือนของเราไปลงทุนแล้ว ยังมีเงินสมทบจากนายจ้างจ่ายให้เราอีกด้วย
รวมถึงเรายังสามารถนำเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ดังนั้น หากเราเป็นพนักงานประจำที่มีปัญหาเรื่องการเก็บเงินไม่อยู่ การส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว.. 
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.