ปรากฏการณ์ Forced Sell ตัวร้าย ทำลายตลาดหุ้นไทย

ปรากฏการณ์ Forced Sell ตัวร้าย ทำลายตลาดหุ้นไทย

25 มิ.ย. 2024
ประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในวงการตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ คือ การที่หุ้นหลาย ๆ ตัวร่วงลงไปติด Floor พร้อม ๆ กัน 
โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น..
- บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF
- บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG
- บริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AS
- บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT 
และหุ้นอื่น ๆ อีกหลายตัว 
ซึ่งตัวร้ายที่หลาย ๆ คน คาดการณ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้
หุ้นเหล่านี้ร่วงกันระนาว นั่นคือ การถูก Forced Sell
Forced Sell คืออะไร และรายละเอียดเบื้องหลังของเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า Forced Sell คืออะไร เรามาทำ
ความรู้จักกับประเภทบัญชีมาร์จิน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า บัญชี Credit Balance กันก่อน
บัญชีมาร์จิน เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์เปิดเพื่อให้สินเชื่อ
กับนักลงทุนในการซื้อหุ้น 
โดยนักลงทุนจะจ่ายเงินซื้อหุ้นเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วน
ที่เหลือจะเป็นการกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์ 
ซึ่งก่อนซื้อหุ้น นักลงทุนจะนำเงินสด หรือหุ้น มาวางเป็น
หลักประกันสำหรับชำระหนี้ ตามสัดส่วนที่โบรกเกอร์
กำหนด 
โดยสัดส่วนที่ต้องวางหลักประกัน จะถูกกำหนดจากหุ้น
แต่ละเกรดที่ต้องการซื้อ เช่น
หุ้นเกรด A วางหลักประกัน 50% กู้ได้ 50%
หุ้นเกรด B วางหลักประกัน 60% กู้ได้ 40%
หุ้นเกรด C วางหลักประกัน 70% กู้ได้ 30%
หุ้นเกรด D วางหลักประกัน 80% กู้ได้ 20%
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างกัน
สมมติว่า เราต้องการซื้อหุ้น ABC มูลค่า 100,000 บาท 
โดยการวางเงินสดส่วนหนึ่ง และกู้เงินอีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งหุ้น ABC ถูกจัดอยู่ในหุ้นเกรด A 
เรานำเงินสดมาวางเป็นหลักประกัน 50,000 บาท 
และกู้เงินจากโบรกเกอร์ 50,000 บาท
หากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเราขายหุ้น เราก็ต้องคืน
ในส่วนที่กู้มา 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
แต่ในทางกลับกัน หากราคาหุ้นลดลง จนมูลค่า
หลักประกันของเราต่ำกว่า 35% เราจะเจอกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “Margin Call” 
นั่นคือ การที่โบรกเกอร์ให้เรานำเงินสด หรือหุ้น 
มาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้มูลค่าหลักประกันต่ำกว่าอัตราหลักประกันที่กำหนดไว้
สมมติว่า ราคาหุ้นลดลงจนมูลค่าหุ้นเหลือ 75,000 บาท 
หักหนี้สินที่เรากู้จากโบรกเกอร์ 50,000 บาท
จะเหลือมูลค่าหลักประกันของเรา 25,000 บาท
ซึ่งมูลค่าหลักประกัน 25,000 บาท คิดเป็น 33.33% 
ของมูลค่าหุ้นปัจจุบัน​ (75,000 บาท)
ซึ่งต่ำกว่าอัตราหลักประกันที่กำหนดไว้ที่ 35%
หมายความว่า เราต้องนำเงินสด หรือหุ้น มาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมอย่างน้อย 1,250 บาท เพื่อรักษามูลค่าหลักประกัน ไม่ให้ต่ำกว่าอัตราหลักประกันที่กำหนด
แต่หากเราไม่วางหลักประกันเพิ่มภายในระยะเวลาที่โบรกเกอร์กำหนด ขณะที่ราคาหุ้นยังปรับตัวลงต่อถึงจุดหนึ่ง โบรกเกอร์ก็มีสิทธิบังคับขายหุ้นได้ทุกราคา
การถูกบังคับขายหุ้นแบบนี้ ก็คือการถูก Forced Sell 
ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นเอง
ถึงตรงนี้ ก็พอจะเห็นภาพของการถูก Forced Sell 
กันบ้างแล้ว 
มาต่อกันที่ประเด็นถัดมาว่า ทำไมการถูก Forced Sell 
ถึงถูกคาดการณ์ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นหลาย ๆ ตัว 
ได้รับแรงเทขายอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้
ก็เพราะว่า หุ้นที่ปรับตัวลงแรงส่วนใหญ่ มีจำนวนหุ้นที่ถูกใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิน คิดเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ตัวอย่างเช่น บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป หรือ YGG มีจำนวนหุ้นที่ถูกใช้เป็นหลักประกันที่สูงถึง 54.23% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทเลยทีเดียว
เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง จึงส่งผลทำให้มูลค่าหลักประกันในบัญชีมาร์จินลดลงตามไปด้วย
เมื่อมูลค่าหลักประกันลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนด
หากเจ้าของหุ้นไม่นำเงินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่ม 
หุ้นที่ถูกวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินก็มีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับขาย หรือ Forced Sell ตามไปด้วย
เมื่อถูก Forced Sell แล้ว ก็อย่างที่เราทราบกันตอนแรกว่า
โบรกเกอร์สามารถบังคับขายหุ้นได้ทุกราคา ซึ่งนั่นก็จะเป็นตัวซ้ำเติมราคาหุ้นให้ร่วงรุนแรงขึ้นไปอีก 
และอีกหนึ่งประเด็นที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น
ของนักลงทุนก็คือ 
การประกาศยุติการให้บริการในส่วนของบัญชีมาร์จิน
ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในเรื่องบัญชีมาร์จินเป็นอย่างมาก
ซึ่งทั้งหมดนี้ ต่างก็เป็นมุมมองที่หลาย ๆ คน คาดการณ์กันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นขนาดเล็ก-กลางหลาย ๆ ตัว โดนกระหน่ำขายจนราคาติด Floor ในช่วงที่ผ่านมา
และสิ่งที่สำคัญในช่วงตลาดผันผวนแบบนี้ หากนักลงทุนถือหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ก็อย่าลืมตรวจสอบว่า หุ้นที่เราถืออยู่นั้น ถูกวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินมากแค่ไหน 
เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.