ถ้าเราจากไป ใครจะมีสิทธิ์ รับมรดกบ้าง

ถ้าเราจากไป ใครจะมีสิทธิ์ รับมรดกบ้าง

4 มิ.ย. 2024
“เงินทองเป็นของนอกกาย ตายแล้วก็เอาไปด้วยไม่ได้” ประโยคดังกล่าวนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องจริง เพราะคนที่จากไปแล้ว สินทรัพย์มีมากมายแค่ไหน ก็ลุกจากหลุมศพขึ้นมาใช้สอยต่อไม่ได้ 
ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ การเตรียมพร้อมส่งต่อสินทรัพย์ไว้ก่อน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ 
เพราะถ้าเจ้าของมรดกไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ คนข้างหลังที่ยังอยู่ ก็อาจจะไม่ได้สบาย เหมือนกับคนที่จากไปแล้ว 
เพราะต้องปวดหัวกับการแบ่งสินทรัพย์ ว่าตกลงแล้ว ใครจะเป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์ของผู้วายชนม์นี้ต่อไป
แล้วถ้าหากคุณสงสัย ว่าถ้าวันหนึ่งเราจากไปแล้ว ใครจะมีสิทธิ์ได้มรดกจากเราบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
พูดถึงมรดก เรามักจะนึกถึงเพียงแค่ทรัพย์สิน และสมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดของเจ้าของมรดก เพียงอย่างเดียว 
แต่อันที่จริงแล้ว หนี้สินก็ถูกจัดให้เป็นมรดกด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหนี้สิน และสินทรัพย์รวมกันนี้ จะเรียกว่า “กองมรดก”
ซึ่งกองมรดกนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิตลง และกองมรดกดังกล่าว ก็จะตกทอดถึงทายาททันที
เพราะฉะนั้น ถ้าหากเจ้าของมรดกมีหนี้สิน หน้าที่ในการชำระหนี้ ก็จะตกทอดมาถึง ทายาทที่ได้รับมรดกด้วยเช่นเดียวกัน  
ถึงอย่างนั้น ในส่วนภาระหนี้สินของเจ้าของมรดกนั้น ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ 
เช่น ถ้าทรัพย์ในกองมรดกของเจ้าของมรดกมีมูลค่า 10 ล้านบาท แต่เจ้าของมรดกมีหนี้สินอยู่ 15 ล้านบาท 
ดังนั้น ทายาทจะต้องใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 5 ล้านบาทที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบ ถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นคำว่าทายาทอยู่เต็มไปหมด เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่า ทายาท ผู้มีสิทธิ์ได้รับกองมรดกนั้น มีแบบไหนบ้าง  
- ทายาทโดยพินัยกรรม
ตามชื่อว่า ทายาทโดยพินัยกรรม ทายาทประเภทนี้ คือทายาทที่มีชื่ออยู่ในพินัยกรรมของเจ้าของมรดก 
โดยเจ้าของมรดกนั้น สามารถเขียนพินัยกรรมว่าจะแบ่งทรัพย์สมบัติของตนเอง ให้กับใคร และจะให้เท่าไรก็ได้ตามต้องการ 
แม้บางทีทายาทนั้น จะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองเลยก็ตาม ทำให้บางทีเราอาจจะเห็นในข่าว หรือในละครว่า เศรษฐีตัดสินใจยกทรัพย์สมบัติของตนเอง ให้กับคนสวน หรือพยาบาลที่ดูแลตนเองตอนใกล้เสียชีวิต 
และตามกฎหมายไทย ผู้รับพินัยกรรมต้องเป็น “คน” หรือ นิติบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น เจ้าของมรดกจะไม่สามารถทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงที่เรารักเหมือนในต่างประเทศได้
จะเห็นได้ว่า ถ้าหากเจ้าของมรดกมีการทำพินัยกรรมไว้ ก็จะสบายกันทั้งเจ้าของมรดก และผู้ได้รับมรดก เพราะจะทราบได้ทันทีว่า ใครจะได้สินทรัพย์อะไร และเท่าไรบ้าง
แต่เรื่องจะเริ่มยุ่งยากขึ้น เมื่อเจ้าของมรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เพราะเมื่อไม่มีพินัยกรรม คำว่า ทายาท ก็จะเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบหนึ่งแทน นั่นก็คือ  
- ทายาทโดยธรรม
ตามกฎหมาย การแบ่งมรดกนั้นถูกแบ่งออกเป็น 6 ลำดับ โดยที่แต่ละลำดับจะมีสิทธิ์รับมรดกก่อนหลัง ไล่เรียงกันไป คือ
1. ผู้สืบสันดาน หรือก็คือลูกของเจ้าของมรดก 
2. บิดามารดา 
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
ทั้งนี้ ถ้าหากว่าทายาทในลำดับต้น ได้รับมรดกไปก่อน ทายาทในลำดับรองลงมา ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก
เช่น นาย A เสียชีวิตไป และมีผู้ที่ได้รับมรดกก็คือ 
B และ C ลูกสองคนของนาย A 
ซึ่งจะทำให้นาย D ซึ่งเป็นน้องชายของนาย A ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก เพราะลูก ๆ ของนาย A ได้ไปก่อนแล้ว  
เว้นเสียแต่ว่า เจ้าของมรดกไม่มีทายาทลำดับก่อนหน้า ทายาทลำดับรอง ๆ ลงไป ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกต่อ 
ส่วนของคู่สมรสนั้น ถ้าคู่สมรสของเจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่ ก็จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยากันก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปแบ่งปันระหว่างทายาทตามลำดับขั้น ที่ระบุไว้ก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ “เสียชีวิตยกครัว” ซึ่งหมายความว่า เจ้าของมรดก ไม่มีทายาทโดยธรรมหลงเหลืออยู่เลย พูดง่าย ๆ คือ ทุกคนในครอบครัว ญาติพี่น้องทั้งหมด เสียชีวิตลงหมดแล้ว
ทรัพย์สินต่าง ๆ ของเจ้าของมรดกก็จะตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งคำว่าตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ใช่การที่รัฐจะเอาทรัพย์สินของเราไปเป็นของตัวเอง 
แต่เป็นการนำทรัพย์สินเหล่านั้น ไปสร้างสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เช่น ที่ดินเปล่า ก็จะถูกรัฐเอาไปใช้ประโยชน์ หรือถ้าเป็นบ้านเดี่ยว รัฐก็อาจจะเอาไปทำเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือบ้านพักคนชรา เป็นต้น  
หรือถ้าไม่สามารถทำประโยชน์ได้แล้วจริง ๆ จึงจะนำออกมาขายทอดตลาดต่อไป
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะจากโลกนี้ไป ด้วยการทำพินัยกรรม ไม่ใช่เรื่องแย่ หรือการแช่งตัวเองอย่างที่หลายคนคิด 
แต่เป็นการทำเพื่อคนข้างหลังที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ให้ต้องลำบากในการจัดสรรมรดก หรือถึงขั้นต้องฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงทรัพย์สมบัติของเรา..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.