ผู้จัดการกองทุน อาชีพบริหารเงินพันล้าน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
29 พ.ค. 2024
“ผู้จัดการกองทุน” น่าจะเป็นอาชีพในสายงานการเงิน การลงทุน ที่ใครหลายคนอยากเข้าไปทำงานกัน
เพราะนอกจากจะได้รับค่าตอบแทนในระดับที่สูงแล้ว ยังเป็นอาชีพที่มีโอกาสเข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
แต่กว่าจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนมืออาชีพได้นั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เวลาที่เราลงทุนในกองทุนรวมรูปแบบต่าง ๆ นั้น จะมีผู้จัดการกองทุนคอยตัดสินใจลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ แทนเรา
ซึ่งบริษัทที่ผู้จัดการกองทุนทำงานอยู่ เรียกว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ออกกองทุนมาขายให้นักลงทุนนั่นเอง
โดยหน้าที่หลักของผู้จัดการกองทุนรวม มีดังนี้
- บริหารพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- วิเคราะห์ตลาดการเงิน สินทรัพย์ทางการเงิน และความเสี่ยง เพื่อตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุน
- ติดตามผลการดำเนินงานของกองทุน เพื่อให้พอร์ตการลงทุนนั้นเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ได้ระบุไว้
ซึ่งโดยปกติแล้ว กองทุน 1 กอง จะไม่ได้มีเพียงแค่ผู้จัดการกองทุน 1 คนคอยบริหารเท่านั้น แต่ยังมีนักวิเคราะห์, ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน, คณะกรรมการควบคุมความเสี่ยง คอยช่วยกันบริหารกองทุนอยู่
ดังนั้นหน้าที่สำคัญของผู้จัดการกองทุนอีกอย่างก็คือ การเข้าประชุมกับทีมงาน รวมถึงนัดประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เข้าไปลงทุน เพื่อรับฟังข้อมูล ข่าวสาร แล้วนำข้อมูลมาตัดสินใจในการลงทุน
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะเห็นแล้วว่าอาชีพผู้จัดการกองทุน เป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย เราลองมาดูกันดีกว่าว่าคนที่จะมาทำอาชีพนี้ได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
2. อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
3. ผ่านการทดสอบหลักสูตรต่าง ๆ ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
3.1 ได้รับใบอนุญาตจากองค์กรกำกับดูแลตลาดทุน
3.2 ผ่าน CFA/CISA ระดับ 1 ขึ้นไป หรือหลักสูตรเทียบเท่าที่บริษัทที่เราจะไปสมัครงานยอมรับ
พร้อมทั้งมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปี ก่อนวันยื่นคำขอ ทั้งนี้ประสบการณ์ดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุน หรือการบริหารความเสี่ยง
4. ผ่านการสอบหลักสูตรความรู้กฎหมายและจรรยาบรรณ FM ในข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
4.1 ผลสอบไม่เกิน 2 ปี ในวันที่ยื่นคำขอ
4.2 ผลสอบเกิน 2 ปี ในวันที่ยื่นคำขอ และต้องเข้าอบรมหลักสูตรเพิ่มเติมในข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
4.2.1 Refresher Course ไม่เกิน 2 ปี ในวันที่ยื่นคำขอ และอบรมต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกรอบ 2 ปีปฏิทิน นับตั้งแต่ปีที่สอบผ่าน
4.2.2 Full Course ไม่เกิน 2 ปี ในวันที่ยื่นคำขอ
แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า มีบางกรณีที่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้จัดการกองทุน ไม่ต้องผ่านการทดสอบหลักสูตร
CFA/CISA ถ้าเข้าเงื่อนไข ดังนี้
- เป็นผู้จัดการบริษัท/ผู้บริหารสูงสุดในสายงานเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท
- เป็นนักวิเคราะห์การลงทุน ด้านหลักทรัพย์ หรือด้านตลาดทุน
- เป็นผู้ที่เคยได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนมาแล้ว
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนรวมทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังมีงานผู้จัดการกองทุนเฉพาะเจาะจงลงไปอีก เช่น
- ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
- ผู้จัดการกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ซึ่งก็ต้องมีการอบรมและทดสอบผ่านหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์นั้น ๆ เพิ่มเติมเช่นกัน
เมื่อเรามีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว เราก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และเมื่อหน่วยงานเหล่านี้อนุมัติการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เราถึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนได้โดยสมบูรณ์
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การจะเป็นผู้จัดการกองทุน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และข้อมูลนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจจะมาทำอาชีพผู้จัดการกองทุน ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว..
References