Spotify แอปฟังเพลง ที่รายได้โต แต่ขาดทุน ต่อเนื่องทุกปี

Spotify แอปฟังเพลง ที่รายได้โต แต่ขาดทุน ต่อเนื่องทุกปี

20 พ.ค. 2024
- ปี 2019 รายได้ 267,574 ล้านบาท 
- ปี 2020 รายได้ 311,721 ล้านบาท
- ปี 2021 รายได้ 382,452 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 463,903 ล้านบาท 
- ปี 2023 รายได้ 524,032 ล้านบาท
ถ้าเราดูแค่นี้ จะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Spotify มีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และน่าจะดูมีอนาคตสดใส แต่ถ้าเราไปดูกำไรในช่วงเดียวกัน จะพบว่า 
- ปี 2019 ขาดทุน 7,357 ล้านบาท
- ปี 2020 ขาดทุน 22,983 ล้านบาท 
- ปี 2021 ขาดทุน 1,344 ล้านบาท 
- ปี 2022 ขาดทุน 17,010 ล้านบาท 
- ปี 2023 ขาดทุน 21,045 ล้านบาท 
หรือก็คือ Spotify ยังขาดทุนต่อเนื่องในทุกปี แสดงว่าทุกครั้งที่เรากดฟังเพลง หรือพอดแคสต์ Spotify ยังไม่ได้กำไรเลย
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ทำไม Spotify เหมือนคนที่กำลังเลือดไหลออกไม่หยุด ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เรารู้กันดีว่า Spotify เป็นโมเดลธุรกิจที่เก็บเงินจากผู้ใช้งานรายเดือน แล้วเราเอง ก็สามารถฟังได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เพลง ไปจนถึงพอดแคสต์ 
แต่ถ้าเราไม่จ่ายเงิน ก็ต้องทนฟังโฆษณาคั่น และฟังได้แค่บางคอนเทนต์เท่านั้น 
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ Spotify มีรายได้จาก 2 ทาง นั่นคือ รายได้จากค่าบริการรายเดือน หรือ Subscription และรายได้จากค่าโฆษณาจากผู้ใช้งานฟรี 
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงที่ผ่านมา Spotify จะมีรายได้เข้ามาไม่ขาดสาย แต่ทำไม Spotify ยังขาดทุนต่อเนื่องทุกปี ?
1. โมเดลธุรกิจที่เลือดไหลออกตลอดเวลา
แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ Spotify ต้องแลกมา นั่นคือ ต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย โดยต้นทุนเหล่านั้นก็คือ ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้เจ้าของผลงานเพลง และพอดแคสต์ 
นอกจากนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยง Spotify ยังมีคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นเองและซื้อลิขสิทธิ์มา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทยอยหักค่าตัดจำหน่าย ในแต่ละปีออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งค่าตัดจำหน่าย ก็ถูกรวมไปในต้นทุนด้วย 
พูดให้เห็นภาพ เช่น ถ้า Spotify ซื้อลิขสิทธิ์รายการพอดแคสต์ A มา 9 ล้านบาท ถ้าหักค่าตัดจำหน่ายภายใน 3 ปี เท่ากับว่า ตรงนี้จะเป็นต้นทุนขายปีละ 3 ล้านบาท 
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ Spotify จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 18.3% แต่ต้นทุนขายก็เพิ่มขึ้นถึง 18.2%  
นอกจากนี้ โมเดลหาเงินของ Spotify จะขายโฆษณาให้กับผู้ใช้งานฟรี และหากเสียเงินรายเดือน ก็ไม่ต้องทนฟังโฆษณา ให้รำคาญอีกต่อไป
เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องดี ที่จะให้ผู้ใช้งานจ่ายเงิน แต่กลับเป็นผลเสียกับ Spotify ที่จะต้องเสียรายได้จากค่าโฆษณาน้อยลงไปเรื่อย ๆ แทน 
Spotify จึงต้องหวังพึ่งพารายได้หลัก จากค่าสมัครบริการรายเดือนจากผู้ใช้งาน เห็นได้จากสัดส่วนรายได้จากค่าสมัครบริการรายเดือนนั้น คิดเป็นถึง 87% ของรายได้ Spotify ทั้งหมดเลยทีเดียว 
2. สงครามแย่งหูคนฟังยังคงดุเดือด
หูคนเรามีเพียง 2 ข้าง ซึ่งไม่มีทางฟังอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้อยู่แล้ว ทำให้ Spotify ต้องเจอคู่แข่ง 
ที่จะมาแย่งหูคนฟังหลายเจ้า 
ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากบิ๊กเทค เช่น Apple ที่มี Apple Music, Alphabet เจ้าของ YouTube Music ที่มีทั้งฐานลูกค้าและมีเงินทุนมหาศาล
ยังไม่รวมถึงคู่แข่งหน้าใหม่ เช่น TIDAL, Deezer ที่พร้อมจะมาแย่งหูคนฟังจาก Spotify ตลอดเวลา 
มารู้ตัวอีกที Spotify ก็กำลังลอยคออยู่ท่ามกลางทะเลเลือด จึงต้องทุ่มงบวิจัยและพัฒนา เช่น ระบบ Echo Nest ที่แนะนำเพลงให้ตรงใจผู้ใช้งาน
ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ คิดเป็น 13% ของรายได้ที่ Spotify ทำได้ในแต่ละปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นถึง 29.4% 
3. ต้องขยายตลาดผู้ใช้งานไปเรื่อย ๆ
ถ้าเราไปดูสัดส่วนรายได้ Spotify ที่แบ่งตามฐานผู้ใช้งานในประเทศต่าง ๆ จะพบว่า มาจาก
- สหรัฐอเมริกา 39% 
- สหราชอาณาจักร 9% 
- ลักเซมเบิร์ก 1%
- อื่น ๆ 51%
จะเห็นได้ว่าแหล่งรายได้ของ Spotify มีการกระจายตัวในหลายประเทศ แต่ไม่มีประเทศที่สามารถเป็นฐานผู้ใช้งานหลัก ให้กับ Spotify ได้เลย ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ต้องทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าในประเทศใหม่ ๆ เข้ามาใช้งาน 
เมื่อต้องทุ่มเงินหนัก ทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 16.7% เลยทีเดียว 
ทั้งหมดนี้ ทำให้ Spotify ที่แม้จะมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง 
แต่ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายการตลาด ค่าวิจัยและพัฒนา 
ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จนไม่เหลือกำไร 
ถึงอย่างนั้น แม้จะขาดทุนต่อเนื่อง แต่ธุรกิจก็ยังอยู่ได้ เพราะเก็บเงินจากผู้ใช้งานมาก่อน แล้วค่อยจ่ายให้เจ้าของเพลง พอดแคสต์ หรือเจ้าหนี้อื่น ๆ ในภายหลังแทน 
นอกจากนี้ ถ้าหักเงินสดที่ใช้ลงทุนของ Spotify ออกไป กระแสเงินสดอิสระ หรือเงินที่เหลืออยู่จริง ๆ ที่เอาไปใช้จ่ายได้ ยังมากถึง 26,370 ล้านบาท 
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับคนตอนนี้ Spotify ก็คงเป็นคน
ที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด และต้องหาอะไรบางอย่าง มาห้ามเลือดที่กำลังไหลออกมา 
ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Spotify จะคิดหาวิธีห้ามเลือดได้เมื่อไร หรือ Spotify จะต้องเลือดไหลออกไปเรื่อย ๆ จนหมดตัวในที่สุดแทน.. 
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.