กทม. ใช้หนี้ BTS 2.3 หมื่นล้าน แต่ยังเหลือหนี้ก้อนโตอีกเกือบ 1 แสนล้าน

กทม. ใช้หนี้ BTS 2.3 หมื่นล้าน แต่ยังเหลือหนี้ก้อนโตอีกเกือบ 1 แสนล้าน

13 มี.ค. 2024
เมื่อวานนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่เอกสาร ข้อบัญญติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567
ใจความสำคัญของตัวข้อบัญญัตินั้น ก็คือการที่ทางกรุงเทพมหานคร จะมีรายจ่ายพิเศษเพิ่มขึ้นมา นั่นก็คือ รายจ่ายที่จะต้องชำระหนี้สินกับทาง BTS เป็นจำนวน 23,488,692,200 บาท
โดยหนี้ในส่วนที่ กทม. กำลังจะจ่ายนั้น ก็น่าจะเป็นหนี้ในส่วนของ ระบบการเดินรถและเครื่องกล หรือ ระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
หลังจากที่ สภากรุงเทพมหานคร มีมติให้เห็นชอบ ให้นำเงินสะสมจ่ายขาดจำนวน 23,488,692,200 บาท ไปจ่ายหนี้ให้กับทาง BTS เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หากมองอย่างผิวเผิน หลายคนอาจจะคิดว่า เรื่องราวทั้งหมดคงคลี่คลายแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว หนี้สินที่กทม. ติดค้างไว้กับ BTS มีมากถึง 120,000 ล้านบาท
แล้วหนี้ก้อนนี้ มาจากไหน ?
หลังจากที่มีการเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-อ่อนนุช รัฐบาลก็เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า
กินพื้นที่จังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ เช่น ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งอยู่นอกอำนาจการบริหารจัดการของกทม.
รัฐบาลในสมัยนั้น จึงให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่อขยายนอกกรุงเทพฯ
แต่ทว่า ในปี 2558 คสช. มีมติให้ทางกทม. เป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถทั้งเส้น เพื่อความสะดวกในการให้บริการ
ซึ่งตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ระหว่าง BTS กับ รฟม. ก็คือ รฟม. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้าง และเป็นผู้รับรายได้ทั้งหมด แต่ต้องว่าจ้างให้ BTS เป็นผู้เดินรถ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ กทม. ที่เข้ามารับไม้ต่อจาก รฟม. ก็ต้องรับผิดชอบหนี้สินแทน รฟม. มูลค่ารวมกันประมาณ 120,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น..
ค่าก่อสร้าง ส่วนต่อขยาย 69,105 ล้านบาทค่าระบบไฟฟ้า และเครื่องกล 20,248 ล้านบาทค่าจ้างเดินรถ 9,377 ล้านบาทประเมินขาดทุนเพิ่มเติม 30,000 ล้านบาท
แล้วการใช้หนี้ของ กทม. จะส่งผลยังไงต่องบการเงินของ BTS บ้าง ?
หนี้สินที่ กทม. จะชำระในข้างต้นนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เงินต้นเท่านั้น แต่ยังรวมดอกเบี้ยเข้าไปด้วย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะกระทบเป็นอันดับแรกก็คือ กำไรของบริษัท BTS จะดีขึ้น เนื่องจากมีดอกเบี้ยรับที่เพิ่มเข้ามา จากการใช้หนี้ของ กทม.
นอกจากนั้น เงินสดของบริษัทในส่วนของงบดุลก็จะเพิ่มขึ้น และยังทำให้กระแสเงินสดของบริษัท อาจจะกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องด้วยมีเงินสดที่รับมาจาก ทั้งตัวเงินต้น และดอกเบี้ยจากการใช้หนี้
จากทั้งหมดนี้เอง ก็จะเห็นได้ว่า มหากาพย์เรื่อง BTS นั้น อาจจะยังไม่จบง่าย ๆ
ถึงอย่างนั้น ผู้ถือหุ้น BTS ก็อาจจะใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง จากผลประกอบการของบริษัท ที่อาจจะดีขึ้น
โดยภายหลังจากมีประกาศนี้ออกมา
ราคาหุ้นของ BTS ก็ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 3.9%..
References
-เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.