รู้จักแผน 4-3-2-1 กลยุทธ์ง่าย ๆ เพื่อสร้าง อิสรภาพทางการเงิน

รู้จักแผน 4-3-2-1 กลยุทธ์ง่าย ๆ เพื่อสร้าง อิสรภาพทางการเงิน

29 ก.พ. 2024
รู้จักแผน 4-3-2-1 กลยุทธ์ง่าย ๆ เพื่อสร้าง อิสรภาพทางการเงิน | MONEY LAB
การวางแผนสู่อิสรภาพทางการเงิน มีอยู่หลากหลายรูปแบบ และมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป
วันนี้ MONEY LAB ก็มีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเงิน ในรูปแบบหนึ่งมานำเสนอ นั่นก็คือ แผน “4-3-2-1”
ซึ่งเป็นแผนที่เข้าใจได้ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นฐานที่ดีสู่อิสรภาพทางการเงิน
แล้วการวางแผนการเงินแบบ 4-3-2-1 มีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แผนการเงินแบบ 4-3-2-1 นั้น เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล อีกรูปแบบหนึ่ง โดยการแบ่งรายได้ของเรา ออกเป็น 4 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
40% สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
การกำหนดให้ค่าใช้จ่ายอยู่ภายในกรอบนั้น เป็นสิ่งที่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือของที่จำเป็น และอะไรคือของที่อยากได้
ซึ่งถ้าหากว่าเราแยกได้ยากแบบนี้ วิธีหนึ่งก็คือ การจำกัดงบประมาณตัวเองในแต่ละเดือนไว้ก่อน ว่าเราจะไม่ใช้เงินเกินกว่านี้
เพราะถ้าหากเราไม่มีการแบ่งสัดส่วนเงินไว้ก่อนแล้ว เราก็จะมองเงินเดือนทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน และใช้จ่ายโดยไม่ระวังตัว จะส่งผลให้สุดท้าย กว่าเราจะรู้ตัว ก็ไม่เหลือเงินไว้ใช้จ่าย ในสิ่งจำเป็นอื่น ๆ แล้ว
โดยตัวเลข 40% ของรายได้นั้น สำหรับค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง รวมไปถึงค่าช็อปปิง แต่ละเดือนแล้ว ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
30% สำหรับชำระหนี้ หรือค่าเช่า
สิ่งที่เราควรจะคำนึงถึง รองลงมาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็คือ ภาระหนี้สิน รวมไปถึงค่าเช่าต่าง ๆ ที่เราต้องจ่ายไปในแต่ละเดือน
สิ่งที่จะบอกเราว่า สุขภาพทางด้านการเงินของเรา ยังดีอยู่ไหม ก็คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาระหนี้สินต่อเดือนที่ดี ควรจะอยู่ที่ประมาณ 35% ถึง 45%
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราอยากจะมีอิสรภาพทางการเงิน เราก็ควรจะมีภาระหนี้สินระยะยาว ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทำให้ตัวเลข ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ต่อเงินเดือนประมาณ 30% ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่พอรับได้
ส่วนคนที่ตอนนี้ยังไม่มีหนี้สิน แต่ตั้งใจว่าจะมีในอนาคต อย่างเช่น เตรียมตัวกู้ซื้อบ้าน หรือกู้ซื้อรถยนต์ เราก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปเก็บไว้ เพื่อรอใช้เป็นเงินดาวน์ เวลาจะกู้ซื้อบ้าน หรือรถยนต์ ก็ได้เช่นกัน
20% สำหรับเก็บออมและลงทุน
เงินในส่วนนี้ เราควรจะนำไปกระจาย ทั้งในการเก็บออม เพื่อใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ในเวลาที่จำเป็นต้องใช้ กับนำไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น หรือกองทุนรวม
อย่างไรก็ตาม ในตอนที่ยังมีรายได้น้อย ๆ อยู่ สัดส่วน 20% ของรายได้เรา อาจจะออกมาเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงนัก ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน พร้อม ๆ กันกับลงทุนได้
ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะเริ่มจากการสะสมเงินสำรองฉุกเฉิน ให้ได้เท่ากับเงินเดือน ประมาณ 3 ถึง 6 เดือนของเราก่อนก็ได้ หลังจากนั้นค่อยเริ่มนำเงินส่วนที่เกิน ไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ
และในระหว่างนั้น ก็หาความรู้เกี่ยวกับการเงิน และการลงทุน ควบคู่กันไปด้วย เพื่อรอวันที่จะนำเงินเก็บเหล่านี้ ไปสร้างผลตอบแทน เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง
10% สำหรับซื้อประกันภัย หรือประกันชีวิต
คงไม่ใช่เรื่องดี ถ้าเงินมากมายที่เราตั้งใจเก็บมา ต้องหมดไปกับการรักษาตัวเอง แทนที่จะได้นำไปใช้จ่ายปรนเปรอตัวเอง หลังมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะฉะนั้น การทำประกัน จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม
ถึงอย่างนั้น การทำประกันในบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะในขณะที่การทำประกัน ช่วยปกป้องเรา จากความเสี่ยงในการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต
แต่การทำประกันก็มีราคาที่ต้องจ่ายอย่าง “เบี้ยประกัน” ซึ่งถ้าหากเรามัวแต่ป้องกันความเสี่ยงในอนาคต จนเงินที่ใช้ในแต่ละเดือนแทบไม่เหลือ หลังจากจ่ายเบี้ยประกัน ก็จะทำให้ชีวิตในปัจจุบันของเราลำบากได้
การกำหนดภาระจ่ายเบี้ยประกัน ไม่ให้เกิน 10% ของรายได้ต่อเดือนแบบนี้เอง ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องทำประกันจนมากเกินความจำเป็นได้
อย่างไรก็ตาม แผนการเงินแบบ 4-3-2-1 นั้น ก็เป็นเพียงแค่การวางแผนการเงินคร่าว ๆ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการจะมีอิสรภาพทางการเงิน และเกษียณได้ไว ๆ เพียงเท่านั้น จึงไม่ได้เหมาะกับทุกคนแต่อย่างใด
ตัวเลขต่าง ๆ ข้างต้น จึงสามารถปรับเพิ่ม หรือลดลงได้ ตามวิถีชีวิต ที่เรากำลังเป็นอยู่ หรือเป้าหมายที่เราต้องการ เช่นเดียวกัน
แต่ก็ไม่ควรจะลดหรือเพิ่มเกินกว่า 10% โดยเฉพาะเงินในส่วนที่เอาไว้ใช้ชำระหนี้สิน ซึ่งไม่ควรจะเพิ่มไปมากกว่านี้แล้ว
เพราะการก่อหนี้เกินตัว จนมีภาระหนี้สินมากล้น จะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา
เช่น ไม่เหลือเงินเก็บ, ใช้จ่ายเงินเพื่อระบายความเครียด จนเกินงบ หรือโหมทำงานใช้หนี้จนสุขภาพย่ำแย่
จนแผนการเงินที่เราวางไว้ ต้องพังทลายลง และตัวเราเองก็ยังคงต้องใช้หนี้ที่ท่วมหัวต่อไป อย่างไม่มีวันจบสิ้น..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.