เลบานอน ประเทศล่มสลาย เพราะรัฐบาล บริหารแบบแชร์ลูกโซ่ | MONEY LAB
ทุกวันนี้ อาชญากรรมทางการเงิน มาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกไปลงทุน ไปจนถึงแชร์ลูกโซ่ โดยขบวนการแก๊งมิจฉาชีพต่าง ๆ
เลบานอน ประเทศล่มสลาย เพราะรัฐบาล บริหารแบบแชร์ลูกโซ่
11 ธ.ค. 2023
ขบวนการเหล่านั้น หลาย ๆ ครั้งก็อาจจะเป็นกลุ่มอาชญากรต่างชาติ หรือกลุ่มอาชญากรในประเทศ ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากผู้คนที่รู้ไม่เท่าทัน
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากผู้ที่หลอกลวงประชาชนนั้น ไม่ใช่กลุ่มอาชญากร แต่เป็นรัฐบาล ซึ่งควรจะเป็นผู้ดูแลประชาชนเสียเอง
ประเทศที่ได้เผชิญกับเหตุการณ์นี้ จนทำให้ประเทศแทบจะล่มสลาย ก็คือ “เลบานอน” ที่ทางรัฐบาลบริหารประเทศ ด้วยวิธีที่ทางธนาคารโลกถึงกับต้องกล่าวในรายงานว่า เลบานอนกำลังเป็น “แชร์ลูกโซ่วงใหญ่” เลยทีเดียว
แล้วรัฐบาลเลบานอน บริหารประเทศแบบไหน จนถูกมองว่า ไม่ต่างกับแชร์ลูกโซ่วงใหญ่ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เลบานอน เป็นประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของภูมิภาค จนกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศ ได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางศาสนาที่แฝงอยู่ในสังคมของประเทศ ก็ได้ปะทุออกมาเป็นสงครามกลางเมือง ในปี 1975 และกินเวลากว่า 15 ปี จนภาคการเงิน และเศรษฐกิจที่เคยเจริญรุ่งเรือง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
รัฐบาลเลบานอน จึงต้องใช้เงินจำนวนมาก ไปกับการบูรณะบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ จนเป็นหนี้มหาศาล
แต่สิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงให้เงินทุนสำรองของรัฐบาลเลบานอนยังอยู่ได้ แม้จะต้องจ่ายหนี้เหล่านั้น ก็คือ เงินสนับสนุนจากต่างชาติ และเงินจากการท่องเที่ยว
และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เงินของชาวเลบานอนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งกลับเข้าประเทศ
สาเหตุที่มีชาวเลบานอนจำนวนมากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็เพราะว่าสงครามกลางเมืองที่กินเวลาอย่างยาวนาน
ทำให้ประชาชนชาวเลบานอนอพยพหนีภัยสงคราม ไปยังประเทศที่เจริญแล้วต่าง ๆ จนสามารถตั้งตัวได้ และส่งเงินกลับมาให้ญาติพี่น้อง
เงินมหาศาลจากต่างประเทศ จึงไหลเข้ามายังเลบานอน และรัฐบาลจึงไม่มีปัญหาด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวของเลบานอน ก็เริ่มซบเซา เนื่องจากประเทศใกล้เคียงอย่างซีเรีย เกิดสงครามกลางเมือง
อีกทั้งวิกฤติซับไพรม์ ที่ลุกลามมาถึงยุโรป ก็ได้ทำให้ชาวเลบานอนในยุโรป ส่งเงินกลับประเทศได้น้อยลง
ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไป เงินทุนสำรองของประเทศเลบานอน ก็คงจะหมดลงในไม่ช้าแน่
จนกระทั่งในปี 2016 ธนาคารกลางและรัฐบาลเลบานอน ก็ได้คิดวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา
ธนาคารพาณิชย์ คงดอกเบี้ยให้สูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน
ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในเลบานอน ให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5% ต่อปี สำหรับเงินฝากในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นถือว่าน่าสนใจมาก
เพราะขนาดชาวอเมริกันในตอนนั้น ยังได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินในธนาคารของประเทศตัวเอง เพียงแค่ประมาณ 1% ต่อปี เท่านั้นเอง
นั่นจึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมูลค่ามหาศาล จากเศรษฐีในประเทศอาหรับข้างเคียง หลั่งไหลเข้ามายังเลบานอน
รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐจากประชาชนในประเทศ ที่ปกติก็ใช้สกุลเงินนี้ ควบคู่กับปอนด์เลบานอนอยู่แล้ว
แล้วทำไม ธนาคารพาณิชย์ ถึงกล้าให้ดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ ? เหตุผลเบื้องหลัง ก็มาจากปัจจัยข้อต่อไป
ธนาคารกลาง ก็ให้ดอกเบี้ยสูง เพื่อดึงเงินจากธนาคารพาณิชย์
ดอกเบี้ยที่ประชาชนได้จากธนาคารพาณิชย์ ก็ว่าสูงแล้ว แต่ดอกเบี้ยที่ทางธนาคารพาณิชย์จะได้จากการฝากเงินกับธนาคารกลางเลบานอน ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ นั้นสูงยิ่งกว่า
เพราะธนาคารกลางเลบานอน ให้ดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น มากกว่า 10% ต่อปี เพียงแต่ดอกเบี้ย จะจ่ายด้วยเงินปอนด์เลบานอนเท่านั้นเอง
และที่ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นยอม ก็เพราะว่าเลบานอน ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยผูกค่าเงินปอนด์เลบานอนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ดอกเบี้ย ที่ธนาคารพาณิชย์ได้มา ถ้าอยากจะได้เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็สามารถนำไปแลกได้โดยง่าย
ทำให้ดอกเบี้ย ที่ธนาคารพาณิชย์ได้มา ถ้าอยากจะได้เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็สามารถนำไปแลกได้โดยง่าย
นำเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้ มาจ่ายดอกเบี้ย เงินกู้ต่างประเทศ
จากทั้ง 2 ขั้นตอนที่ผ่านมา ในตอนนี้เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะอยู่ในมือของธนาคารกลาง และรัฐบาลของเลบานอนแล้ว
สิ่งที่รัฐบาลเลบานอนต้องทำ ก็มีเพียงแค่นำเงินเหล่านี้ ไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้สถานะของเลบานอน ในสายตาของเจ้าหนี้ดูแข็งแกร่ง
แต่อันที่จริงแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เอามาจ่ายเจ้าหนี้เหล่านั้น ก็คือเงินของประชาชน และนักลงทุนต่างชาติ ที่ตั้งใจจะเอาเงินมาฝาก เพื่อกินดอกเบี้ยสบาย ๆ นั่นเอง
ถึงตรงนี้เอง ทางธนาคารโลก จึงมองว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลเลบานอน ไม่ได้ต่างอะไรกับการทำแชร์ลูกโซ่เลย
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเลบานอนก็ยังมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำมาใช้จ่าย
จนทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ไต่จาก 134% ในปี 2011 ขึ้นมาเป็น 172% ในปี 2019
หนี้ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็บีบให้รัฐบาลเลบานอน ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน นำไปสู่การขึ้นภาษีน้ำมัน, ยาสูบ หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดีย ในปี 2019
การขึ้นภาษี นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน จนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้นักลงทุนที่กังวล จึงพากันถอนเงินออก
เมื่อมีคนรุมถอนเงินกันมาก ๆ ก็ถึงเวลาที่วงแชร์ลูกโซ่จะต้องล่ม เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐหมดลง รัฐบาลเลบานอน ก็ไม่มีเงินพอจ่ายเจ้าหนี้ และต้องผิดนัดชำระหนี้กว่า 42,000 ล้านบาท ในที่สุด
สิ่งที่ตามมาก็คือ ประเทศเลบานอน กลายเป็นรัฐล่มสลาย ชาวเลบานอนทั่วประเทศ มีสถานะที่จนลงเกินกว่าครึ่ง ในเวลาแค่ 3 ปี ด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่หดตัวกว่า 57%
เงินที่ประชาชนฝากไว้ในธนาคาร ก็ไม่สามารถถอนออกมาได้ จนประชาชนต้องรวมตัวกัน ปล้นเงินของตัวเองกลับคืนมาจากธนาคาร
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า การบริหารประเทศที่ผิดพลาด ส่งผลเสียกับประเทศชาติได้มากเพียงใด
ที่แย่กว่านั้นก็คือ เงินที่รัฐบาลเลบานอนกู้ยืมมานั้น ถูกนำไปสร้างความมั่งคั่ง ให้กับเหล่าชนชั้นสูงของประเทศ
แต่เมื่อถึงเวลาที่ประเทศล่มสลายแล้ว คนที่เดือดร้อนและต้องรับกรรม กลับเป็นประชาชนคนธรรมดา ที่หวังว่ารัฐบาล จะช่วยรับประกันความมั่นคงในชีวิต ให้กับพวกเขาเอง..
References
-https://www.abc.net.au/news/2021-08-04/lebanons-collapse-continues-one-year-after-beirut-blast/100343112
-https://www.reuters.com/world/middle-east/lebanons-financial-meltdown-how-it-happened-2021-06-17/
-https://www.imf.org
-https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2020/03/12/for-the-first-time-lebanon-defaults-on-its-debts
-https://shorturl.at/hrANT
-https://www.abc.net.au/news/2021-08-04/lebanons-collapse-continues-one-year-after-beirut-blast/100343112
-https://www.reuters.com/world/middle-east/lebanons-financial-meltdown-how-it-happened-2021-06-17/
-https://www.imf.org
-https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2020/03/12/for-the-first-time-lebanon-defaults-on-its-debts
-https://shorturl.at/hrANT