2 แนวคิด วางแผนการเงิน สำหรับ “Sandwich Generation”

2 แนวคิด วางแผนการเงิน สำหรับ “Sandwich Generation”

27 พ.ย. 2023
2 แนวคิด วางแผนการเงิน สำหรับ “Sandwich Generation” | MONEY LAB
แน่นอนว่าการวางแผนการเงิน เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะฐานะยากดีมีจนแค่ไหน
แต่กลุ่มคนที่เรียกว่า “Sandwich Generation” นั้น การวางแผนการเงิน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสุด ๆ
นั่นก็เป็นเพราะว่า คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับภาระทางการเงินไว้มาก รวมถึงยังต้องรับผิดชอบคนรอบข้าง ที่อยู่ใน Generation อื่น ๆ ด้วย
Sandwich Generation คือใคร
และมีแนวคิดการวางแผนการเงินอย่างไร สำหรับคนกลุ่มนี้บ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
Sandwich Generation คือคนวัยกลางคน ส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วงระหว่าง 40-50 ปี
ด้วยความที่ค่าใช้จ่ายหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้กลับเพิ่มขึ้นไม่ทัน
ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับภาระทางการเงินอย่างมาก ทั้งต้องดูแลตัวเอง ช่วยเหลือพ่อแม่ที่อาจมีรายได้ไม่เพียงพอหลังเกษียณ รวมทั้งต้องเลี้ยงลูกที่ยังเด็ก
และนี่คือ 2 แนวคิดในการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ สำหรับ Sandwich Generation
ทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง
สิ่งสำคัญเรื่องแรกคือ การบริหารความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสที่เงินเก็บของเราจะลดลง ซึ่งตัวช่วยที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือ การทำประกัน
โดยเฉพาะการทำประกันชีวิต เพื่อให้มีความคุ้มครองในส่วนของตัวเราเอง กรณีที่เราซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องจากไป จะได้มีเงินไว้ให้คนข้างหลัง
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเราควรทำประกัน ที่มีทุนประกันเท่าไรจึงจะเหมาะสม ? ไม่มากหรือน้อยเกินไป
โดยทั่วไปแล้ว ทุนประกันที่เหมาะสม กรณีเน้นคุ้มครองชีวิต = (ค่าใช้จ่ายต่อปีที่เราจ่ายเพื่อเลี้ยงดูคนอื่น x จำนวนปีที่เราต้องเลี้ยงดู) + ภาระหนี้สินที่เหลืออยู่ทั้งหมด
เช่น นาย A เป็นเสาหลักของครอบครัว มีลูก 1 คน อายุ 12 ปี และมีพ่อแม่ต้องดูแล โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมกันเดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท
ขณะที่มีหนี้สินคงค้างทั้งบ้านและรถรวมกันประมาณ 2,000,000 บาท ซึ่งนาย A คาดว่า จำนวนปีที่คาดว่าจะต้องเลี้ยงดูลูกจนเรียนจบปริญญาตรี และดูแลพ่อแม่เป็นเวลาอีก 10 ปี
ดังนั้น กรณีของนาย A นั้น ทุนประกันที่เหมาะสมกรณีเน้นคุ้มครองชีวิต
= [240,000 x 10] + 2,000,000 บาท
ซึ่งเท่ากับ 4,400,000 บาท ที่ต้องมีเงินเตรียมให้ลูกจนเรียนจบ ดูแลพ่อแม่ และปลดภาระหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม ถ้านาย A มีสินทรัพย์อยู่แล้ว 600,000 บาท รวมทั้งเคยทำประกันเอาไว้แล้ว 1 ฉบับ ที่มีทุนประกัน 400,000 บาท
ดังนั้น ทุนประกันที่เหมาะสมกรณีเน้นคุ้มครองชีวิต สำหรับการทำประกันฉบับใหม่ ก็ควรจะเท่ากับ 3,400,000 บาท นั่นเอง
นอกจากการทำประกันชีวิตแล้ว นาย A ควรพิจารณาการทำประกันสุขภาพด้วย ทั้งแก่ตนเอง พ่อแม่ที่สูงอายุ รวมทั้งลูกที่อายุยังน้อย เพราะบางครั้งแม้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี เงินเก็บออมที่มีอยู่ก็อาจหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเช่นกัน
สำรวจเงินออมอย่างสม่ำเสมอ
การมีเงินออมที่เพียงพอ จะช่วยให้เราทุกคนอุ่นใจ ซึ่งสูตรการออมเงินที่น่าสนใจ และเข้าใจง่ายสูตรหนึ่งคือ อัตราการออมเงิน = (1 - ค่าใช้จ่าย/รายได้) x 100
เช่น หากเรามีรายได้เดือนละ 60,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ประมาณ 40,000 บาท เท่ากับว่าเราจะมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ (1 - 40,000/60,000) x 100 = 33%
อย่างไรก็ตาม ถ้า 2 ปีต่อมา รายได้เราเพิ่มมาเป็นเดือนละ 80,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มมาเป็นเดือนละ 60,000 บาท เท่ากับว่าเราจะมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ (1 - 60,000/80,000) x 100 = 25%
จะเห็นว่า แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จะเป็นบวก แต่มีอัตราการออมลดลงจาก 33% เหลือ 25% ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี
ดังนั้น เราอาจต้องมาสำรวจว่า มีรูรั่วเรื่องค่าใช้จ่ายตรงไหน ที่เราสามารถปิดได้ เพราะถ้าปล่อยไว้นาน สัดส่วนเงินออมของเรา อาจจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ก็ได้
นี่เป็นเพียงแนวคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจช่วยให้ Sandwich Generation มีการวางแผนการเงินได้รอบคอบขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริบทและความจำเป็นในการใช้จ่ายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
ดังนั้นเราควรนำแนวคิดต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงวางแผนในการลงทุนให้มีรายได้เพิ่มเติมด้วย..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.