โรงแรมเอเชีย และเซียร์ รังสิต มีเจ้าของเดียวกัน

โรงแรมเอเชีย และเซียร์ รังสิต มีเจ้าของเดียวกัน

20 พ.ย. 2023
โรงแรมเอเชีย และเซียร์ รังสิต มีเจ้าของเดียวกัน | MONEY LAB
หลายคนที่เคยเดินผ่าน รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวี น่าจะต้องเคยเห็น “โรงแรมเอเชีย” ผ่านตากันบ้าง
รู้หรือไม่ว่า บริษัทเจ้าของโรงแรมเอเชีย ที่มีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวีนั้น ยังเป็นเจ้าของโรงแรมอีกหลายที่
ทั้งที่ดอนเมือง, พัทยา, ชะอำ, เชียงใหม่ รวมไปถึงในสหรัฐอเมริกา
และยังเป็นเจ้าของเซียร์ รังสิต ห้างขายสินค้าไอทีที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในสมัยก่อนด้วย
เรื่องราวของโรงแรมเอเชีย และเซียร์ รังสิต เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
จุดเริ่มต้นของโรงแรมเอเชีย เกิดขึ้นในปี 2509 โดยตระกูลเตชะหรูวิจิตร ซื้อที่ดินริมถนนพญาไท ย่านราชเทวี เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เพื่อสร้างโรงแรมเอเชีย ภายใต้ชื่อบริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด
ต่อมา เอเชียโฮเต็ล ได้ขยายธุรกิจโรงแรมผ่านบริษัทย่อย โดยมีทั้ง โรงแรมเอเชียพัทยา ในปี 2515 และโรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท ในปี 2535
ช่วงปลายปี 2535 บริษัทก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อ บริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) และก็ยังคงขยายธุรกิจ เป็นเจ้าของโรงแรมเอเชียแห่งอื่น ๆ เพิ่มอีก
รวมถึงธุรกิจศูนย์การค้าและให้เช่าพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต
แล้วเจ้าของโรงแรมเอเชีย กลายมาเป็นเจ้าของศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ได้อย่างไร ?
ต้องเล่าย้อนก่อนว่า ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 และเป็นห้างขายสินค้าไอที ที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น
โดย เซียร์ รังสิต ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน เชื่อมต่อกับถนนวิภาวดีรังสิต ห่างจากสนามบินดอนเมืองเพียง 3 กิโลเมตร
เจ้าของโครงการ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ในตอนนั้นคือ บริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท เอ.บี.เค.เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด
ซึ่งบริษัท เอ.บี.เค.เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ก็เป็นลูกหนี้ของเอเชียโฮเต็ลอีกที
ต่อมาในปี 2543 เอเชียโฮเต็ลได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบริษัท เอ.บี.เค.เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ที่เป็นลูกหนี้ของบริษัท
จึงทำให้เอเชียโฮเต็ล กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยทางอ้อม ในสัดส่วน 74%
และกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วน 95% ในตอนนี้
สรุปแล้วก็คือ ปัจจุบัน บริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) คือผู้บริหารงาน โรงแรมเอเชีย ที่ตั้งอยู่ตรงทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวี
และมีอีก 3 บริษัทย่อย คือ
บริษัท เอเชียพัทยาโฮเต็ล จำกัดบริษัท เอเชียแอร์พอร์ทโฮเต็ล จำกัดบริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
เอเชียโฮเต็ล ประกอบธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่
ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร
โดยมี โรงแรมเอเชีย, โรงแรมเอเชียพัทยา, โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท, โรงแรมเอเชียชะอำ, โรงแรมดาร์เลย์ เชียงใหม่, โรงแรมราชพฤกษ์ ลานนา บูทีค และโรงแรม Quality Inn Long Beach - Signal Hill ในสหรัฐอเมริกา
ธุรกิจศูนย์การค้าและให้เช่าพื้นที่
ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต, ศูนย์การค้าเดอะฮับ รังสิต, ศูนย์การค้าลานสุข พลาซ่า, อาคารอะพาร์ตเมนต์ เอเอทาวน์ และศูนย์การค้าขนาดเล็กที่เมือง Glendale ในสหรัฐอเมริกา
โดยสัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจโรงแรม และธุรกิจศูนย์การค้า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ
รายได้จากกิจการโรงแรม 53%รายได้จากค่าเช่าและบริการ 47%
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันธุรกิจของเอเชียโฮเต็ล ต้องเจอกับความท้าทายหลายอย่าง
โดยธุรกิจศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ที่เคยเป็นห้างขายสินค้าไอทีที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น มาวันนี้ ก็มีลูกค้าเข้ามาเดินน้อยลง เพราะผู้คนมีตัวเลือกมากขึ้น
เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากกว่าสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อจากศูนย์การค้าอื่นที่ใกล้บ้านตัวเองมากกว่า หรือซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
ทำให้เซียร์ รังสิต ปรับตัวด้วยการเปิดโซนใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น “The Hub” ที่เป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า
ในส่วนของธุรกิจโรงแรม ของเอเชียโฮเต็ล ก็มีการแข่งขันที่สูงขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ ถ้าเราพูดถึงโรงแรมใหญ่ ๆ ในละแวกย่านราชเทวี ก็จะมีแค่ โรงแรมเอเชีย, โรงแรมนารายณ์, โรงแรมมณเฑียร, โรงแรมแมนดาริน และโรงแรมอินทรา รีเจนท์ เท่านั้น
แต่ในปัจจุบันก็มีคู่แข่งมากขึ้น จากโรงแรมที่เปิดใหม่, โฮสเทล รวมถึงการปล่อยเช่าห้องพักรายวันผ่านแอปพลิเคชัน อย่าง Airbnb
ทีนี้เรามาดูผลประกอบการของบริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) กัน
ปี 2557 รายได้ 1,211 ล้านบาท กำไร 200 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1,282 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,336 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 811 ล้านบาท ขาดทุน 122 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 924 ล้านบาท ขาดทุน 112 ล้านบาท
ถ้าดูจากงบการเงินของเอเชียโฮเต็ลจะพบว่า ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด เอเชียโฮเต็ล มีรายได้ค่อนข้างคงที่ ราว 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี
ในขณะที่ช่วง 7-8 ปีมานี้ บริษัทมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น หลักร้อยล้านบาทต่อปี ที่เกิดจากการลงทุน เช่น
ขยายศูนย์การค้า The Hubซื้อโครงการราชพฤกษ์ ลานนา บูทีค จ.เชียงใหม่ซื้อโรงแรม Quality Inn Long Beach - Signal Hill ในสหรัฐอเมริกา
พอมาเจอกับวิกฤติโรคระบาด เอเชียโฮเต็ล ที่ทำธุรกิจโรงแรม และศูนย์การค้า ก็ได้รับผลกระทบตรงนี้ไปเต็ม ๆ ทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้ขาดทุน
ปัจจุบันธุรกิจโรงแรม ของเอเชียโฮเต็ล มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 40% และราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 1,280 บาท
ซึ่งอัตราการเข้าพัก ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้ง ตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
ในส่วนรายได้จากธุรกิจค่าเช่าของบริษัท ก็เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว เพราะก่อนหน้านี้บริษัทได้ลดค่าเช่าให้กับร้านค้าไปถึง 2 ปี ช่วงมาตรการล็อกดาวน์
แล้วถ้าถามว่า อะไรที่ทำให้โรงแรมเอเชีย อยู่มาได้เกือบ 60 ปี อย่างแรกเลยก็คือ ทำเลที่ดี
โรงแรมเอเชีย อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกโรงแรมเอเชียพัทยา หันหน้าออกทะเล มีชายหาดของตัวเองโรงแรมดาร์เลย์ เชียงใหม่ อยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับตลาดวโรรส
นอกจากนี้ โรงแรมเอเชียยังเลือกแข่งขันอยู่ในตลาดโรงแรมสี่ดาว ไม่ได้ไปแข่งกับโรงแรมดาวสูงกว่านั้น รวมถึงเป็นเจ้าของที่ดินเอง ทำให้ต้นทุนไม่สูง
และบริษัทก็ยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นั่นเลยทำให้ เอเชียโฮเต็ล เจ้าของโรงแรมเอเชีย และเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่ง รวมถึงศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต อยู่มาได้เกือบ 60 ปี
และไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น การลงทุนปรับโฉมครั้งใหญ่ ในอีกหลายโครงการ
รวมถึงโรงแรมเอเชีย ตรงทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวี จนเราอาจจะจำไม่ได้เลย ก็เป็นได้..
References
-https://www.zeer.co.th/about-us/
-https://www.asiahotel.co.th/asia-invest/
-https://readthecloud.co/surapong-techaruvichit-asia-hotel/
-รายงานประจำปี บริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน)
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.