3 สัญญาณ JKN ก่อนยื่น​ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลาย

3 สัญญาณ JKN ก่อนยื่น​ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลาย

9 พ.ย. 2023
ข่าวดังที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์วันนี้ คือเรื่องที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย
ส่งผลให้ราคาหุ้น JKN ร่วงลงมา -30%
หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อน JKN ได้รายงานว่ามีปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว จ่ายเงินกู้ยืมหุ้นกู้ ราว 600 ล้านบาท ไม่ไหว
เราเคยสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมบริษัทอย่าง JKN ที่ทำธุรกิจมีรายได้และกำไร เติบโตมาโดยตลอด
ถึงได้เดินมาถึงจุดที่บริษัท​ยื่นฟื้นฟูกิจการได้ ?
ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าเราไปไล่เรียงจากในงบการเงิน ก็จะพบว่า มีถึง 3 สัญญาณ ที่บอกเราเป็นนัย ๆ ได้ว่า บริษัทคงจะไปไม่รอด
แล้วสัญญาณเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
JKN มี 3 สัญญาณที่เราสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ
จากในงบการเงิน
สภาพคล่องของบริษัทลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ในการจะวัดสภาพคล่องระยะสั้นของบริษัท สามารถทำได้ด้วยการใช้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน
หรือ Current Ratio
คำนวณหาได้จาก
สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
โดย Current Ratio จะบอกเราว่า ในระยะสั้นคือเวลา 1 ปี บริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่
หาก Current Ratio มากกว่า 1 เท่า แปลว่า บริษัทมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะแปลงให้เป็นเงินสด แล้วนำไปชำระหนี้สินระยะสั้นได้ ทำให้บริษัทไม่มีปัญหาสภาพคล่อง
แต่ถ้า Current Ratio น้อยกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง และมีโอกาสล้มละลายได้
แล้ว Current Ratio ของ JKN เป็นอย่างไร​ ?
ในปี 2559 ก่อนที่ JKN จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
JKN มี Current Ratio อยู่ที่ 0.56 เท่า ซึ่งถือว่ามีสภาพคล่องที่ไม่ค่อยจะดี
แต่พอบริษัทได้เข้าตลาด และได้รับเงินจากการเพิ่มทุน ก็ทำให้ JKN มี Current Ratio ที่ดีขึ้น มีค่ามากกว่า 1 เท่า มาตลอด
จนกระทั่ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
Current Ratio ของบริษัท ก็น้อยลงมาเรื่อย ๆ
และในปี 2565 บริษัทก็มี Current Ratio
เหลือแค่ 0.75 เท่า
ล่าสุดในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566
Current Ratio ก็ลดลงมาอีก เหลือแค่ 0.67 เท่า เท่านั้น
นั่นก็แปลว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป JKN จะไม่มีเงินเพียงพอ ที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้น ภายในเวลา 1 ปีต่อจากนี้ได้
บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี
ในการจะวิเคราะห์สัดส่วนหนี้สินของบริษัท เราจะใช้ 2 อัตราส่วนยอดฮิต คือ
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio
คำนวณหาได้จาก
หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ IBD/E Ratio
คำนวณหาได้จาก
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ในปี 2559 ก่อนจะเข้าตลาดหุ้น เราพบว่า JKN มี
D/E Ratio อยู่ที่ 2 เท่า และ IBD/E Ratio อยู่ที่ 1.45 เท่า
แต่พอหลังจากบริษัทเข้าตลาดแล้ว อัตราส่วนทั้ง 2 ตัวนี้ของบริษัท ก็ดีขึ้น คือน้อยกว่า 1 เท่า มาตลอด
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า พอบริษัทเพิ่มทุน สัดส่วนหนี้สินที่มี ก็น้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง
แต่พอตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา JKN ก็กลับมามีทั้ง D/E Ratio และ IBD/E Ratio มากกว่า 1 เท่าอีกครั้ง
กลายเป็นว่า บริษัทกลับมามีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นอีกแล้ว
หากเราไปย้อนดูตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2565 เราจะพบว่า JKN มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นทุกปี
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย คือหนี้สินที่รวมเฉพาะแค่ เงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้
ปี 2559 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 794 ล้านบาทปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 1,588 ล้านบาทปี 2564 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 3,697 ล้านบาทปี 2565 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 5,298 ล้านบาท
ยิ่งมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น รายได้และกำไรจากการทำธุรกิจ ก็ต้องเสียไปกับดอกเบี้ยมากขึ้น และก็ทำให้สภาพคล่องลดลงไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
กระแสเงินสดอิสระของบริษัท ติดลบมาอย่างยาวนาน
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะใช้ เพื่อช่วยตรวจสอบว่า บริษัทมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงหรือไม่
โดยกระแสเงินสดอิสระ คำนวณหาได้จาก
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน ลบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทำธุรกิจ
สำหรับ JKN มีกระแสเงินสดอิสระ ติดลบมาตั้งแต่ปี 2559
ปี 2559 กระแสเงินสดอิสระ -375 ล้านบาท
ปี 2561 กระแสเงินสดอิสระ -690 ล้านบาท
ปี 2563 กระแสเงินสดอิสระ -582 ล้านบาท
ปี 2565 กระแสเงินสดอิสระ -1,095 ล้านบาท
และล่าสุดคือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566
JKN มีกระแสเงินสดอิสระ -593 ล้านบาท
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเราดูกระแสเงินสดอิสระ ก็พบว่า JKN ได้รับผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินสด ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่บริษัทใช้ไปเลย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อกระแสเงินสดอิสระของบริษัท ติดลบหลักร้อยล้านพันล้านบาท มาอย่างต่อเนื่องแบบนี้
แล้วบริษัทเอาเงินจากไหน มาหมุนเวียนทำธุรกิจ ?
คำตอบก็คือ การกู้เงินจากธนาคาร และการออกหุ้นกู้
หรือก็คือ JKN อยู่ได้ เพราะเงินกู้นั่นเอง..
จากบทความนี้ เราคงได้เห็นแล้วว่า สัญญาณตั้งแต่ข้อที่ 1 มาจนถึงข้อที่ 3 ที่ MONEY LAB ได้วิเคราะห์ไป ทุกข้อมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด
JKN ทำธุรกิจแล้วได้เงินมาก็จริง แต่ก็จ่ายออกไปกับการลงทุนมหาศาล จึงต้องกู้เงินและออกหุ้นกู้
โดย JKN ก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด แต่สุดท้ายเมื่อหนี้สินมากขึ้น ๆ ประกอบกับบริษัทไม่สามารถกู้เงินเพิ่มขึ้นได้แล้ว
จึงส่งผลให้บริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นขึ้น
แน่นอนว่า บริษัทสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการออกหุ้นใหม่เพื่อเพิ่มทุน
แต่เมื่อเงินเพิ่มทุน ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้
ก็ทำให้ JKN ไปไม่รอด จนเกิดปัญหาการจ่ายหนี้หุ้นกู้ และสุดท้ายในวันนี้ JKN ก็ต้องยื่น​ฟื้นฟูกิจการ..
References
หนังสือ The Five Rules for Successful Stock Investing: Morningstar's Guide to Building Wealth and Winning in the Market (2004) โดย Pat Dorseyตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยงบการเงินของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2566
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.